โรคอ้วนในเด็ก

โดย นายแพทย์ภัคนันท์ ตรงจิตการุณย์ กุมารแพทย์
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อในเด็ก เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว
           โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมเกินปกติจนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ในประเทศไทย จากผลการสำรวจข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข ปี พ.ศ.2564 พบเด็กวัยเรียน (อายุ6-14ปี) มีน้ำหนักเกินและอ้วนร้อยละ 11.09


สาเหตุโรคอ้วน
          1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น บิดามารดาอ้วน, มารดาเป็นเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์, ทารกแรกเกิดน้ำหนักมาก, โรคต่อมไร้ท่อ, โรคทางพันธุกรรม
          2. พฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การบริโภคอาหารไขมันสัตว์ อาหารแป้งและน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
          3. การออกกำลังกายและพฤติกรรมไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ตัวอย่างเช่น เด็กที่ไม่ออกกำลังกาย ดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกมส์ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้จากอาหาร และพลังงานที่ใช้ของร่างกาย

การวินิจฉัยโรคอ้วน คำนวณจาก
          1. การวัดน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง แบ่งตามอายุ และเพศ ที่มีค่าสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน
          2. การวัดดัชนีมวลกาย (น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง) มีค่าสูงมากกว่า 2 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน
ภาวะแทรกซ้อนโรคอ้วนในเด็ก
          1. ระบบหายใจ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรน โรคภูมิแพ้
          2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
          3. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน กลุ่มอาการเมตาบอลิก
          4. ระบบทางเดินอาหารและตับ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
          5. ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ขาโก่ง โรคหัวกระดูกสะโพกเลื่อน กระดูกหักง่าย
          6. ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีผื่นสีน้ำตาลดำหนาบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ รอยแตกบริเวณหน้าท้อง และผื่นแดงบริเวณข้อพับเกิดจากการเสียดสี
          7. สภาพจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ถูกล้อเลียน ขาดความเชื่อมั่น แยกตัวจากสังคม


การรักษา
เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตปกติ และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กและครอบครัว ในด้านโภชนาการ พฤติกรรม และจิตใจ
           1. ปรับลดอาหารพลังงานสูง เช่น อาหารประเภทแป้ง รสหวาน ไขมันอิ่มตัว และอาหารรสเค็ม
          2. เพิ่มอาหารชนิดกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักผลไม้ไม่หวาน
          3. บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่เป็นอาหารหลากหลาย และบริโภคครบ 3 มื้อ เป็นเวลา ไม่งดอาหารมื้อเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก
          4. หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด ผัดน้ำมัน เปลี่ยนเป็นอาหารชนิดต้ม นิ่ง ตุ๋น หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารจานด่วน
          5. ควรดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ งดน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว
          6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ วันละ 30-60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง โดยกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
              - เด็กอายุ 2-6 ปี เช่น วิ่ง กระโดดเชือก เตะลูกบอล ปีนป่ายเครื่องเล่น ว่ายน้ำ เป็นต้น
              - อายุ 7-10 ปี เช่น โยนรับลูกบอล เตะลูกบอล ปั่นจักรยาน แบดมินตัน ปิงปอง เทนนิส เป็นต้น
              - อายุ 10 ปีขึ้นไป เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
          7. ลดกิจกรรมที่เคลื่อนไหว เช่น กำหนดเวลาดูโทรทัศน์และเล่มเกมส์ รวมกันวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
          8. สร้างแรงจูงใจ และฝึกวินัยในการบริโภคอาหารและออกกำลังกาย ให้คำชมเชยเมื่อทำได้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตำหนิ การลงโทษ
          9. พ่อแม่และครอบครัวเป็นแบบอย่างของการมีสุขนิสัยที่ดี ในการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม