โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)

โรคพยาธิใบไม้ในเลือด นับเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประชากรโลกมาแล้วหลายประเทศ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคนี้ เป็นโรคติดต่อในเขตร้อนที่มีความสำคัญเป็นที่ 2 รองจากโรคมาลาเรีย
ปัจจุบันประชากรทั้งหมดในโลกคาดว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ในเลือดประมาณ 200 ล้านคน สำหรับประเทศไทยโรคนี้มีระบาดไม่มากนัก และไม่น่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ แต่การอพยพของผู้ลี้ภัยในอินโดจีนเข้าสู่ประเทศไทยอาจเกิดระบาดของโรคนี้ได้
เชื้อที่ทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในเลือดที่ทำให้เกิดโรคในคนที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด คือ
1.ชิสโทโซมา จาพอนิคุม (Schistosoma japonicum) พบทางแถบตะวันออกของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่าพบโรคพยาธิใบไม้ในเลือดในลาว เขมร มาเลเซีย ไทย สำหรับประเทศไทยมีเฉพาะในบางท้องถิ่นเท่านั้น
2.ชิสโทโซมา ฮีมาโตเบียม (Schistosoma haematobium) พบมากในแถบแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และมีเล็กน้อยเป็นบางท้องที่ในประเทศอินเดีย
3.ชิสโทโซมา แมนโซนิ (Schistosoma mansoni) พบในแอฟริกา อิสราเอล เยเมน ซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐโดมินิแกน ปาทอริโก เวเนซุเอลา และเซนต์ลูเซีย เป็นต้น
แหล่งของโรค
ได้แก่มนุษย์หรือผู้ที่มีหนอนพยาธิอาศัยอยู่ในร่างกาย และในหอยที่เป็นพาหะของโรค ปกติไม่พบหอยที่เป็นพาหะของโรคในประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีรายงานว่า พบหอย Trichuraaperla ซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ในแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
การติดต่อ ระยะติดต่อ วงจรชีวิต
ตัวแก่ของพยาธิใบไม้ในเลือดอาศัยอยู่ในหลอดเลือดดำของสำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะ หลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว ไข่ซึ่งตัวอ่อนในระยะแรกอาศัยอยู่ในไมราซิเดียม (Miracidium) จะถูกการบีบตัวของหลอดเลือดดำที่ผนังของลำไส้ ทำให้ไข่ในไมราซิเดียมซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มหนามออกมาฝังตัวอยู่ที่เนื้อเยื่อของผนังลำไส้ และบางครั้งจะทะลุหรือหลุดออกมาสู่ภายในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย
เมื่อไข่ไปสู่แหล่งน้ำ ตัวอ่อนในไมราซิเดียมจะฟักตัวออกมาว่ายอยู่ในน้ำ และไชเข้าไปอาศัยอยู่ในหอยซึ่งเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (inermediate host) และเจริญเติบโตเป็นสปอโรซิสต์ (sporocyst) จนในที่สุดเจริญเป็นเซอร์คาเรีย (cercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อพยาธิใบไม้อื่น ๆ เซอร์คาเรียจะออกจากโฮตส์หรือตัวกลางตัวแรกที่อาศัยอยู่ ไชเข้าไปอาศัยอยู่ในโฮสต์หรือตัวกลางตัวที่ 2 เช่น จากหอยไปอยู่ในกุ้งหรือปลา แล้วเจริญเป็นเมตาเซอร์คาเรีย (metacercaria) จึงจะเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนนำกุ้งหรือปลามากินดิบ ๆ จึงได้รับตัวอ่อนของหนอนพยาธิใบไม้เข้าสู่ร่างกาย
แต่พยาธิใบไม้ในเลือด เมื่อตัวอ่อนเจริญเป็นเซอร์คาเรีย (cercaria) สามารถเป็นระยะติดต่อได้เลย โดยไชออกจากหอยและว่ายอยู่ในน้ำ ผู้ที่ลงไปอยู่ในน้ำจะถูกเซอร์คาเรียไชเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายแล้วไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในหลอดเลือดดำของอวัยวะต่าง ๆ ผสมพันธุ์และออกไข่เป็นวัฏจักรดังกล่าวมาแล้ว ระยะฟักตัว ตั้งแต่เป็นไมราซิเดียมจนเป็นระยะติดต่อหรือเซอร์คาเรีย ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ระยะตั้งแต่ไชเข้าไปสู่ผิวหนังไปอาศัยในหลอดเลือดดำจนกลายเป็นตัวแก่ผสมพันธุ์และออกไข่ปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย ใช้เวลาประมาณ 43-49 วัน