ภาวะลำไส้อุดตันที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : www.bangkokpattayahosp

ลำไส้อุดตัน เป็นภาวะที่มีสิ่งอุดตันหรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ ไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาการที่เกิดจะบอกถึงตำแหน่งการอุดตัน อาจเกิดการอุดตันบางส่วนหรืออุดตันทั้งหมด หากมีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาการอื่นร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์ หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของลำไส้อุดตัน
              มีได้หลายอาการ เนื่องจากขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุดตัน เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ช่องท้องมีเสียงดังผิดปกติ ฯลฯ  ลำไส้อุดตันทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์หากมีอาการดังที่กล่าวมา

อาการของลำไส้เล็กอุดตัน
    - ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ซี่โครงหรือสะดือ
    - ท้องอืดแน่นท้อง หรือกดที่ท้องแล้วรู้สึกเจ็บ
    - คลื่นไส้ อาเจียน
    - ไม่สามารถผายลมได้
อาการของลำไส้ใหญ่อุดตัน
    - ปวดท้อง
    - ท้องอืด แน่นท้อง
    - ท้องผูกเป็นเวลานาน อุจจาระไม่ออก
    - อุจจาระมีลักษณะลีบ เล็กลง
สาเหตุของลำไส้อุดตันแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
          ภาวะลำไส้ตีบตัน เกิดจากบางสิ่งไปอุดตันทางเดินของลำไส้ โดยเฉพาะการเกิดพังผืดในลำไส้ ซึ่งมักเกิดภายหลังการผ่าตัดภายในช่องท้อง หรืออาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
    - มะเร็งลำไส้ใหญ่
    - เนื้องอกในลำไส้เล็ก
    - ไส้เลื่อน
    - นิ่วในถุงน้ำดี
    - ลำไส้กลืนกัน
    - การกลืนสิ่งแปลกปลอม
    - ความผิดปกติของลำไส้ในทารกแรกเกิด
    - ลำไส้อักเสบ
    - อุจจาระตกค้าง
    - การตีบแคบของลำไส้ใหญ่ที่เป็นผลมาจากแผลหรือการอักเสบ
การวินิจฉัยลำไส้อุดตัน
          ในการวินิจฉัยตำแหน่งและหาสาเหตุของการเกิด แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย และอาการต่าง ๆ ว่าเริ่มปวดท้องหรือพบอาการตั้งแต่เมื่อใด เคยพบอาการเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ มีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระเป็นเลือด ท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วยหรือเปล่า หรือผู้ป่วยเคยมีประวัติการผ่าตัดหรือฉายรังสีที่บริเวณช่องท้องมาก่อนหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจอาการบวมที่ช่องท้อง ฟังเสียงการทำงานของลำไส้ หรืออาจมีแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
    1. การเอกซเรย์บริเวณช่องท้อง เพื่อยืนยันการเกิดลำไส้อุดตัน แต่บางครั้งการเอกซเรย์อาจไม่ได้ช่วยให้ตรวจพบสาเหตุของลำไส้อุดตันได้
    2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan ร่วมกับการเอกซเรย์ในภายในช่องท้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ลำไส้อุดตัน
    3. การอัลตราซาวด์
    4. การสวนโดยใช้ลมหรือแป้งแบเรี่ยมเข้าไปที่ลำไส้ผ่านทางทวารหนักเพื่อแสดงลักษณะของลำไส้
    5. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่อุดตัน
การรักษาลำไส้อุดตัน
           ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีการอุดตัน สาเหตุของการอุดตัน การรักษาจะแตกต่างกัน เช่น การใช้ลูกโป่งขยาย หรือการใส่ขดลวดขยายจุดตีบตัน การส่องกล้อง การผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นโรค
ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้อุดตัน
           อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะขาดน้ำ ระดับแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ลำไส้ทะลุ ภาวะไตวาย หากการอุดตันที่เกิดขึ้นไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไม่ให้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของลำไส้อาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เนื้อเยื่อในลำไส้ตาย ลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้
การป้องกันลำไส้อุดตัน
        ลำไส้อุดตันป้องกันได้โดยลดการเกิดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต เช่น
    - หากพบประวัติการผ่าตัดในช่องท้อง ควรไปติดตามผลกับแพทย์ผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาเจียน ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลรักษา
    - เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ รับประทานผักและผลไม้ งดการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจหามะเร็งลำไส้ปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
    - หลี่กเลี่ยงการยกของหนักเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน ซึ่งจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อลำไส้ หากพบว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นใต้ผิวหนังที่บริเวณหน้าท้องหรือที่ขาหนีบ ควรไปพบแพทย์
    - การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ มัน ถั่ว ขนมปังธัญพืช เป็นต้น ช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้
           หากคุณมีอาการไม่ชี้ชัด และไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายโรคลำไส้อุดตันหรือไม่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพือรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป