ฟันตาย อันตรายในช่องปาก

ฟันตาย เป็นอีกหนึ่งภาวะที่อันตรายภายในช่องปาก แต่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักมาก่อนกับภาวะนี้ และเพื่อไขข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะฟันตายว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร อาการแบบไหน มีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงกับปัญหา รวมถึงรักษาสุขภาพภายในช่องปากให้ถูกต้อง โดยข้อมูลจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิทยาเอนโดดอนท์
ส่วนประกอบของฟัน
- เคลือบฟัน อยู่ชั้นนอกสุด
- เนื้อฟัน ถัดเข้ามาจากเคลือบฟัน
- โพรงประสาทฟัน มีเส้นเลือด เส้นประสาท และเซลล์ต่าง ๆ
ความหมายของฟันตาย
ฟันตาย คือ ฟันที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงในโพรงประสาทฟัน ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในฟันตายไป
อาการที่สังเกตได้
- ฟันเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น
- มีตุ่มหนองที่เหงือก เหงือกบวมหรือกดเจ็บบริเวณปลายรากฟัน
- มีอาการเคี้ยวเจ็บหรือกัดเจ็บ ซึ่งเกิดจากอาการอักเสบรอบปลายรากฟัน
- เคยมีอาการเสียวฟันมาก ๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ทานน้ำร้อน น้ำเย็น แต่อยู่ ๆ ก็ไม่รู้สึก อาจเป็นสัญญาณของฟันตาย
สาเหตุที่ทำให้ฟันตาย
คือ ภาวะอันตรายใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เชื้อโรคเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันจนทำให้โพรงประสาทฟันติดเชื้ออักเสบและตายในที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุดังนี้


 

- ฟันผุ ฟันสึก จนถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟันฉีกขาด
- ฟันร้าว หรือฟันแตก จากการใช้งาน มักเกิดในคนชอบทานของเข็ง นอนกัดฟัน กัดโดนก้อนกรวดในข้าว เป็นต้น
- เป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง
วิธีตรวจอาการฟันตาย
 ทันตแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจฟันที่ต้องสงสัยอย่างละเอียด โดยการดู คลำ เคาะ ใช้เครื่องวัดความมีชีวิตของฟัน ร่วมกับดูภาพถ่ายรังสี แต่ในบางครั้งอาจตรวจพบจากภาพรังสีในการตรวจฟันประจำปีโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการบ่งบอกมาก่อนก็ได้
การรักษาฟันตาย
- รักษารากฟัน
- ถอนฟัน กรณีที่ฟันซี่นั้นไม่สามารถบูรณะได้ หรือผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่จะเก็บฟันไว้

หากไม่ได้รับการรักษา
- ฟันตายที่ไม่ได้รับการรักษา กรณีจากฟันผุ จะผุกร่อนไปเรื่อย ๆ
- เกิดการติดเชื้อ ปวด บวม
- มีการละลายของกระดูกปลายรากฟัน
การป้องกันฟันตาย
- ตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
- แปรงฟันให้สะอาดร่วมกับใช้ไหมขัดฟัน ปัญหาที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยมักฟันผุบริเวณซอกฟัน ซึ่งเกิดจากการไม่ได้ใช้ไหมขัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของแข็ง ลดโอกาสการเกิดฟันร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุฟันตาย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลโดย : ทพญ.อัจนา เพียรพาณิช งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัย มหิดล


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article