โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ประเทศไทยพบประมาณ 5-8 คน จากเด็ก 1,000 คน โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันทั้งด้านพยาธิสภาพ และอาการที่แสดง ดังนั้น การรักษาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องแตกต่างกันไปด้วย ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพรุนแรง หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
                โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติของพันธุกรรมขณะตั้งครรภ์ มีการติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด การใช้สารเสพติด การได้รับรังสี ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก และครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
                - ชนิดเขียว เป็นอาการที่เกิดจากเลือดดำไหลเข้าสู่เส้นเลือดแดงที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เด็กมีลักษณะผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อเขียวคล้ำ มักพบอาการเขียวที่เด่นชัดในบริเวณปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก และใบหน้า
                - ชนิดไม่เขียว เป็นอาการที่เกิดจากร่างกายได้รับออกซิเจนที่ส่งมากับเลือดไม่เพียงพอ และหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากได้เหมือนคนปกติ ในวัยทารกจะมีอาการเหนื่อยง่ายขณะดูดนม เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรมหรือออกแรงทำสิ่งใด ๆ หากมีการทำกิจกรรมที่หนักอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ร่างกายและสมองขาดออกซิเจนเป็นลมหมดสติได้ง่าย
อาการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
                เริ่มจากไม่มีอาการจนถึงอาการรุนแรง อาการที่ผู้ปกครองควรสงสัยว่าบุตรหลานของท่านเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ
- เหนื่อยง่าย เมื่อเทียบกับเด็กปกติ
- เมื่ออยู่ในวัยทารก พบว่าต้องใช้เวลาดูดนมนาน ดูดนมแล้วพักบ่อย หายใจเร็ว หายใจทางจมูก หรือซี่โครงบาน
- สังเกตจากลิ้น เยื่อบุตา ริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเป็นสีคล้ำ
- ติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หรือปอดบวมบ่อย
- เด็กขาดการเจริญเติบโต หรือโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- ลักษณะภายนอกผิดปกติ เช่น กลุ่มอาการดาวน์
- หน้าอกผิดรูป ยุบ หรือโป่งมากผิดปกติ นิ้วปุ้ม
- หัวใจเต้นเร็ว และแรงผิดปกติ
                 หากสังเกตว่ามีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ควรปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเมื่อสงสัยโรคหัวใจพิการ โดยกุมารแพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์หัวใจ คลื่นเสียงความถี่สูงหัวใจ และการสวนหัวใจ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

การดูแล และรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
                  เนื่องจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิด การรักษาจึงขึ้นกับชนิดของโรคและอายุของผู้ป่วย บางชนิดใช้การรักษาแบบประคับประครองด้วยยา หรือรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาจะช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติ การรักษาที่ได้ผลดี คือ การผ่าตัด และการรักษาด้วยอุปกรณ์พิเศษทางสายสวน (Interventional Cardiac Catheterization) ดังนั้น ผู้ปกครองควรสอบถามข้อมูลการดูแลรักษาเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่ดูแลบุตรหลานของท่าน ส่วนผู้ที่ดูแลควรมีความรู้ในการดูแล ทั้งด้านอาหาร และโภชนาการ ในรายที่มีอาการหัวใจวาย หายใจหอบ ควรงดรับประทานอาหารเค็ม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการออกกำลังกายที่พอเหมาะ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อจากฟัน และช่องปาก เป็นต้น


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/