โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus-ZIKV) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเป็นยุงชนิดเดียวกันกับ “ไวรัสไข้เลือดออก” ซึ่งหากถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสซิก้ากัด ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ
แต่การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีความพิการแต่กำเนิด เช่น ทารกศีรษะเล็ก (microcephaly) อาจพบหินปูนจับในเนื้อสมอง (intracranial calcifications) และอาจมีความพิการที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น แขน ขา ข้อ เป็นต้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในอนาคต
การติดต่อ
สามารถติดต่อและแพร่เชื้อได้หลายทาง สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการถูกยุงลาย
ที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด (เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย) และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การถ่ายเลือด ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอาจแพร่เชื้อสู่ทารกในครรภ์ ส่งผลกระทบ
ต่อทารกในครรภ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อในไตรมาสแรก
อาการแสดงและการวินิจฉัย
ระยะฟักตัวหลังจากรับเชื้อจนแสดงอาการเฉลี่ย 4 – 7 วัน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดงแบบ Maculopapular
ปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ และอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต อุจจาระร่วง
การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกาในเลือด หรือปัสสาวะ ด้วยวิธี PCR
สำหรับทารกที่มีศีรษะเล็ก ต้องตรวจภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสซิกา (ZIKV IgM)
การรักษา
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น การใช้ยาลดไข้
หรือยาบรรเทาอาการปวด เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกับไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ อาจจะแยกโรคยาก
ในช่วงแรก จึงมีข้อควรระวังคือห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
(NSAIDs) เนื่องจากรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด และเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย
คำแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ
สำหรับประชาชน
1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือ
ครอบฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึง
ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่ที่คนรวมตัวกัน เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล
เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน
2. ระมัดระวังไม่ให้โดนยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด
3. นอนกางมุ้ง และติดมุ้งลวดที่ประตู หน้าต่าง
สำหรับผู้ป่วย
1. ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะอาจทำให้
เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์
2. หากผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ ควรมีการป้องกันที่เหมาะสม อย่างน้อย 1 เดือน
3. หากมีไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ หรือมีอาการสงสัยที่จะเป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
ควรรีบไปพบแพทย์
ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค