โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นกลุ่มอาการที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดต่างๆกัน ตั้งแต่ 0.5-10 ซม. มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขนขา ผื่นแต่ละผื่นจะคงอยู่นานไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอยเหลือ แต่อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่ผิวหนังส่วนอื่นได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม (Angioedema) บางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่พบน้อยมาก
ผี่นลมพิษเป็นปื้นนูนแดง
ผู้ป่วยบางรายมีอาการปากบวม, ตาบวมร่วมด้วย
ผู้ป่วยบางรายมีผื่นนูนขึ้นตามรอยเกาหรือการกดรัด
ชนิดของโรคลมพิษ โรคลมพิษแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ลมพิษเฉียบพลัน ผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก อาหาร, ยา, การติดเชื้อ
2. ลมพิษเรื้อรัง ผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง
สาเหตุของโรคลมพิษ
1. อาหาร เช่น อาหารทะเล, สารกันเสีย, สีผสมอาหารบางชนิด
2. ยา ปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิดเช่น เพนนิซิลิน, ซัลฟา อาจทำให้เกิดผื่นลมพิษได้
3. การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อรา หรือมีพยาธิ เป็นสาเหตุของลมพิษได้ทั้งสิ้น
4. โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมธัยรอยด์
5. อิทธิพลทางกายภาพ ผู้ป่วยบางรายผื่นลมพิษอาจเป็นผลจากปฏิกิริยาต่อความร้อน, ความเย็น, น้ำหนักกดรัด, แสงแดด, การออกกำลังกาย เป็นต้น
6. การแพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยาง (latex), ขนสัตว์, พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
7. ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้ง, ต่อ ต่อย
8. มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
9. ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนังทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
10. สาเหตุอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคลูปัสหรือผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบบางรายอาจมีผื่นลมพิษ แต่มีข้อสังเกตคือ แต่ละผื่นอยู่นาน มักเกิน 24 ชั่วโมง เวลาหายมักมีรอยดำ
ผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรัง แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มากพอที่จะอธิบายหาสาเหตุได้ทั้งหมด ผู้ป่วยลมพิษจึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษ และหลีกเลี่ยงหรือรักษาสาเหตุนั้นได้ จะทำให้โรคลมพิษสงบลงหรือหายขาดได้
หลักการรักษาโรคลมพิษ
1. พยายามหาสาเหตุ แล้วกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ถ้าทำได้
2. รับประทานยาต้านฮิสตามีน ยาต้านฮิสตามีนมีหลายชนิด หลายกลุ่ม มีทั้งที่ออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว ทั้งที่ง่วงและไม่ง่วง การจะเลือกใช้ยาต้านฮิสตามีนตัวใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ การตอบสนองต่อยาต้านฮิสตามีนในผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายใช้ยาเพียงตัวเดียวก็ได้ผลดี แต่บางรายแพทย์อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านฮิสตามีนในกลุ่มอื่น หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ
3. ยาอื่น ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮิสตามีน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างและหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ
การปฏิบัติตัวในผู้ป่วยโรคลมพิษ
ผู้ป่วยลมพิษที่ผื่นเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลมพิษเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีหน้าบวม, ตาบวม, ปากบวมอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากมีการบวมของเยื่อบุทางหายใจ อาจทำให้เกิดอาการหอบหืด ถึงชีวิตได้
ในผู้ป่วยที่มีเฉพาะผื่นลมพิษที่ผิวหนัง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- ต้องนำยาต้านฮิสตามีนติดตัวไว้เสมอ เมื่อเกิดอาการจะใช้ได้ทันที
- ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด
- ไม่แกะเกาผิวหนัง เพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา
- อาจใช้ calamine lotion ทาบริเวณผื่นลมพิษ เพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย
การพยากรณ์โรค
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันที่หาสาเหตุและแก้ไขได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮิสตามีน ผื่นลมพิษมักหายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายที่หาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่มีโรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ในผู้ป่วยที่ได้สืบค้นจนทราบสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮิสตามีน ผื่นลมพิษมักหายได้เช่นเดียวกับกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน แต่ถ้าหาสาเหตุไม่พบ หรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย โรคมักเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษให้ได้ เมื่อควบคุมอาการได้แล้วแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลง เพื่อควบคุมโรคในระยะยาว และพยายามหยุดยาถ้าทำได้ ผู้ป่วยบางรายโรคอาจเรื้อรังเป็นปี อย่างไรก็ตามผื่นลมพิษชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยและญาติไม่ควรวิตกกังวล