มาลาเรีย (Malaria, Cerebral Malaria )โรคติดต่อจากยุงก้นปล่อง

ไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น หรือไข้ป่า มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้


ลักษณะโรค
โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ปัจจุบันในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่คือ Plasmodium vivax ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการรุนแรง แต่สามารถเป็นๆ หายๆ จากเชื้อที่มีระยะหลบพักในตัว
โดยเชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่
1. Plasmodium falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม หรือ พีเอฟ (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. Plasmodium vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ
3. Plasmodium malariae เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ หรือ พีเอ็ม (P.m.)
4. Plasmodium ovale เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล หรือ พีโอ (P.o.)
5. Plasmodium knowlesi เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ หรือ พีเค (P.k.) เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน


สาเหตุโรคไข้มาลาเรีย
โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ซึ่งติดต่อสู่คนโดยการกัดของยุงก้นปล่อง (Anopheles) นอกจากนี้เคยมีรายงานการติดเชื้อจากคนสู่คนผ่านการรับเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์แต่พบน้อยมาก ยุงก้นปล่องสปีชีส์ที่พบว่านำโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. epiroticus, An. aconitus


การติดต่อของโรค
ปกัดคน ติดต่อโดยยุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากผู้ป่วยอีกคนไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยเริ่มจากยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยที่เป็นโรคมาลาเรีย และดูดเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียเข้าไป หลังจากนั้นเชื้อมาลาเรียใช้เวลาในการเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุงประมาณ 10-12 วัน จนอยู่ในระยะที่ทำให้เกิดโรคได้ เมื่อยุงมีเชื้อมาลาเรียไปกัดคนก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย จะแสดงอาการหลังจากยุงกัดประมาณ 10-14 วัน
ระยะฟักตัวของโรค
- เชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม (P.f) ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
- เชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ (P.v) และ เชื้อมาลาเรียโอวาเล่ (P.o) ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน
- เชื้อมาลาเรียมาลาเรอิ (P.m) ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน


ระยะติดต่อ
วงจรชีวิตเชื้อมาลาเรีย
- เชื้อมาลาเรียมีการเจริญเติบโตอยู่ 2 ระยะ คือ ในยุงก้นปล่อง และในคน
- เริ่มจากที่ยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียระยะมีเพศ เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ตัวยุงและผสมพันธุ์กันเป็นตัวอ่อนฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวและเดินทางไปยังต่อมน้ำลายยุง เมื่อยุงกัดคนและปล่อยน้ำลายเพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวระหว่างการดูด ก็ปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าสู่กระแสเลือดคนเช่นกัน
- ระยะในตับ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคนก็ปล่อยเชื้อจากต่อมน้ำลายสู่กระแสเลือด และเข้าสู่เซลล์ตับ มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่งก็แตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่กระแสเลือดและเม็ดเลือดแดง
- ระยะในเม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อมาลาเรียแตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่เม็ดเลือดแดงก็มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนมากขึ้น จนถึงช่วงเม็ดเลือดแดงแตก เชื้อก็จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอื่นๆเพื่อหาอาหารเลี้ยงตัว มีการเจริญแบ่งตัววนเวียน ทั้งนี้เชื้อบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศทั้งเพศผู้เพศเมีย ระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ระยะนี้ตรวจพบเชื้อมาลาเรียในเลือดได้
- สําหรับเชื้อมาลาเรียไวแวกซ์นั้น บางส่วนหยุดพักการเจริญเติบโตชั่วคราว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งสามารถกลับมาเจริญเติบโตใหม่ได้ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดอาการไข้กลับ เป็นมาลาเรียซ้ำอีก


การรักษา
เชื้อมาลาเรียเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา จึงต้องอาศัยการตรวจหาเชื้อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียสำเร็จรูป และเนื่องจากเชื้อมาลาเรียบางชนิด เมื่อป่วยแล้วไม่ไปรับการรักษาทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้


การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
* กางมุ้งนอนพร้อมปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด
* ทายากันยุงบริเวณผิวหนังภายนอก หรือจุดยากันยุง
* สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมมิดชิด
* หากต้องค้างคืนในไร่นาหรือป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบน้ำยา
* กำจัดแหล่งลูกน้ำ เช่น บริเวณน้ำกักขัง เป็นต้น


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค