งูสวัด อาการติดเชื้ออันตราย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน!

ผู้เขียน
พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ

 


งูสวัด อาการติดเชื้ออันตราย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน!
หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาว่าหากมีอาการเครียดสะสม นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น แท้จริงแล้วโรคงูสวัดเกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่? วันนี้เราจะพาคุณไปค้นหาสาเหตุและทำความรู้จักลักษณะอาการของโรค รวมถึงวิธีป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดโรคงูสวัดได้อย่างถูกต้อง มาติดตามไปพร้อมกัน
โรคงูสวัด (Herpes zoster หรือ shingles) คืออะไร?
งูสวัด (Herpes zoster หรือ Shingles) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้มากในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังตามร่างกาย มักเกิดขึ้นที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายตามแนวเส้นประสาท หรือหากมีภาวะแพร่กระจายในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจเกิดผื่นกระจายได้ทั่วร่างกาย
สาเหตุการเกิดโรคงูสวัดมาจากปัจจัยใดบ้าง?
โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicella Zoster Virus (VZV) หรือเชื้อไวรัส “ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3” ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส และเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม เนื่องจากร่างกายเราหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อไวรัสเหล่านี้จะไปซ่อนตัวอยู่ตามปมประสาทของร่างกายโดยไม่แสดงอาการ เมื่อร่างกายตกอยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เชื้อไวรัสที่ซ่อนตัวอยู่ก็อาจจะกำเริบและโรคงูสวัดจึงแสดงอาการออกมาให้เห็น
โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร?
อาการเริ่มแรกของโรคงูสวัดมักจะมีอาการปวดแสบร้อนที่ผิวนำมาก่อน หลังจากนั้นเกิดผื่นตุ่มแดงขึ้นตามแนวเส้นประสาท หลังจากนั้นเริ่มกลายเป็นตุ่มน้ำ หรือหากเป็นระยะแพร่กระจายอาจเกิดผื่นได้ทั่วตัว หรือในบางรายอาจไม่มีผื่นมีแต่อาการปวดแสบร้อน อาจมีอาการไข้ร่วมด้วย ในบางรายแม้แผลจะตกสะเก็ดและหายไปแล้ว แต่ผู้ป่วยยังรู้สึกปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังอยู่ ในรายที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจะพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบได้
วิธีรักษาโรคงูสวัดทำได้อย่างไรบ้าง?
โรคงูสวัดหากมีอาการไม่รุนแรงมากและไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานภายใน 48 - 72 ชั่วโมงหลังเกิดผื่น ร่วมกับใช้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาทเพื่อบรรเทาอาการปวดแสบ หากสงสัยว่ากำลังจะเป็นโรคงูสวัดแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
เราสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคงูสวัดเกิดจากภาวะที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสในขณะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงแสดงอาการของโรคออกมา วิธีการป้องกันจึงเป็นการเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้
* รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย
* นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
* หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด


นอกจากวิธีการปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคงูสวัดแล้ว การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้สูงอายุ เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูงถึง 97% ลดความรุนแรงของโรคและโอกาสเกิดซ้ำได้ ที่โรงพยาบาลวิมุตเรามีแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกัน งูสวัด (Shingrix) 2 เข็ม สามารถติดต่อเพื่อรับคำปรึกษาและบริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอดระยะเวลาทำการ


อย่างไรก็ตามโรคงูสวัดยังเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วสามารถหายเองได้ หากร่างกายของเรามีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจต้องคอยดูแลสภาพร่างกายให้มากขึ้น รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้ามีอาการปวดแสบตามร่างกายหรือสงสัยว่าจะเกิดอาการของโรคงูสวัดให้รีบพบแพทย์ทันที ก่อนอาการจะลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต https://www.vimut.com/article/herpes-zoster