รูปที่ 1 แสดงกายวิภาคปกติไม่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนคืออะไร
การเคลื่อนตํ่าลงมาจากตำแหน่งปกติของผนังช่องคลอด ทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานยื่นย้อยลงมา เกิดเป็นก้อนนูนออกในช่องคลอดหรือโผล่พ้นออกมานอกช่องคลอด ปกติอวัยวะในอุ้งเชิงกรานประกอบด้วย มดลูก ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ รูปที่ 1
สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนอาจมีอาการดังต่อไปนี้ :
- รู้สึกหน่วงในช่องคลอดหรือบริเวณหลังส่วนล่าง
- รู้สึกว่ามีก้อนภายในหรือภายนอกช่องคลอด
- อาการเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ลำปัสสาวะไหลช้า รู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด ต้องกดบริเวณผนังช่องคลอดเพื่อช่วยในการปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยๆหรือปวดปัสสาวะอย่างมากจนรอไม่ได้ และปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ขณะออกแรง, วิ่ง, ไอ, จาม เป็นต้น
- อาการเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ขับถ่ายอุจจาระลำบาก รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่สุดหรือต้องกดบริเวณผนังช่องคลอดเพื่อช่วยในการถ่ายอุจจาระ
- รู้สึกไม่สบายขณะร่วมเพศหรือไม่สามารถร่วมเพศได้ เพราะว่ามีก้อนยื่นมาขวาง
สาเหตุของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนคืออะไร?
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งยึดเหนี่ยวอวัยวะเหล่านี้ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีการอ่อนแอลง สาเหตุหลักคือการที่เส้นประสาท เอ็น และกล้ามเนื้อที่พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่องคลอดและเนื้อเยื่อที่พยุงช่องคลอดอ่อนแอลง พบภาวะนี้ได้ 1 ใน 3 ของสตรีที่มีบุตรแล้วอย่างน้อย 1 คน อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนนี้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยขณะตั้งครรภ์หรือภายหลังคลอดไม่นาน ไปจนกระทั่งหลายปีผ่านไป อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 9 ของสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา
- อายุที่มากขึ้นและการหมดระดู อาจเป็นเหตุให้โครงสร้างที่พยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลงได้
- ภาวะที่มีแรงดันกระทำต่ออุ้งเชิงกรานอย่างมาก เช่น โรคอ้วน ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง การยกของหนัก และการออกแรงเบ่งมาก – สตรีบางรายอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนโดยโรคทางพันธุกรรม ที่อาจมีผลต่อความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น มาร์แฟนซินโดรม (Marfan syndrome) และโรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos syndrome)
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนเกิดได้บริเวณใดบ้าง?
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนอาจเกิดขึ้นบริเวณผนังช่องคลอดด้านหน้า ผนังช่องคลอดด้านหลัง มดลูกหรือผนังช่องคลอดด้านบน (ส่วนยอดของช่องคลอดภายหลังการผ่าตัดมดลูก) ก็ได้ สตรีจำนวนมากอาจมีการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหลายๆตำแหน่งพร้อมกัน
1. การหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหน้า
เป็นตำแหน่งที่พบการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานบ่อยที่สุด จะพบการยื่นนูนของกระเพาะปัสสาวะและ/หรือท่อปัสสาวะลงมาในช่องคลอดได้ แพทย์อาจเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า กระเพาะปัสสาวะหย่อนและ/หรือท่อปัสสาวะหย่อน รูปที่ 2
รูปที่ 2 การหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหน้า
2. การหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหลัง
เป็นภาวะที่มีส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่าไส้ตรงยื่นนูนออกมาทางผนังช่องคลอดด้านหลัง แพทย์อาจภาวะนี้เรียกว่าไส้ตรงเลื่อน และ/หรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งของลำไส้เล็กยื่นนูนออกมาที่บริเวณส่วนบนของผนังช่องคลอดด้านหลัง ซึ่งแพทย์อาจเรียกภาวะนี้ว่าไส้เลื่อน รูปที่ 3
รูปที่ 3 การหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหลัง
3. การหย่อนของมดลูกและผนังช่องคลอดส่วนยอด (ด้านบน)
– มดลูกหย่อน เกิดขึ้นเมื่อมดลูกยื่นย้อยหรือเคลื่อนตํ่าลงมาในช่องคลอด พบมากเป็นอันดับ 2 ของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน รูปที่ 4
รูปที่ 4 มดลูกหย่อน
– ช่องคลอดส่วนยอดหย่อนภายหลังการผ่าตัดมดลูก ผนังด้านบนของช่องคลอดอาจหย่อนลงมา (คล้ายการปลิ้นกลับปลายถุงเท้าด้านในออกมา) และเคลื่อนลงมาที่ปากช่องคลอด หรือยื่นย้อยพ้นปากช่องคลอดออกมา รูปที่ 5
รูปที่ 5 ช่องคลอดด้านบนหย่อนในสตรีที่ได้เคยผ่าตัดมดลูก
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนมีความรุนแรงเพียงใด?
สตรีจำนวนมากประมาณร้อยละ 40 มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนซึ่งมีความรุนแรงต่างๆกัน ตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย ไปจนกระทั่งมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาตลอดเวลา และมีอาการร่วมต่างๆ แพทย์จะซักประวัติและตรวจภายในอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยว่าภาวะนี้มีความรุนแรงอยู่ในระยะใด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้อธิบายข้อมูลเหล่านี้ให้คุณทราบ
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนรักษาได้อย่างไร?
ทางเลือกในการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาวิธีไม่ต้องผ่าตัดและการรักษาวิธีผ่าตัด
การรักษาเชิงอนุรักษ์หรือวิธีไม่ต้องผ่าตัด ได้แก่
1. สังเกตอาการ :
อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนไม่ได้เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต สตรีที่ไม่มีอาการหรือไม่มีปัญหาใดๆจากการหย่อนนี้มักเลือกที่จะไม่รับการรักษา อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ให้พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกแรงเบ่งมากๆ เช่น ท้องผูก และการที่มีนํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น
2. ใช้อุปกรณ์พยุงในช่องคลอด (Pessary) :
เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยใช้สำหรับสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อพยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รูปที่ 5 จึงช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ได้ อุปกรณ์เหล่านี้มีหลากหลายรูปทรงและขนาด ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ชนิดที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือ แบบรูปร่างเป็นวงแหวนเหมือนห่วง บางครั้งจึงเรียกว่า ห่วงพยุงในช่องคลอด การใช้อุปกรณ์พยุงในช่องคลอดเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่าตัด หรือชะลอการผ่าตัดออกไป เช่น ในกรณีที่ยังต้องการมีบุตร หรือมีปัญหาสุขภาพที่ไม่อาจผ่าตัดได้เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยที่จะใช้อุปกรณ์พยุงในช่องคลอดต้องได้รับการตรวจวัดและประเมินความรุนแรงของการหย่อน โดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ก่อน และอาจต้องมีการทดลองใส่เพื่อหาขนาดและชนิดที่เหมาะสมที่สุดก่อนนำไปใช้จริงที่บ้าน อุปกรณ์พยุงในช่องคลอดบางชนิดเท่านั้นที่ผู้ใช้ยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ขณะใส่อยู่ในช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในรายละเอียด
รูปที่ 6 อุปกรณ์พยุงในช่องคลอดชนิดวงแหวน
3. การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (Kegel exercise)
การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอลง อาจช่วยฟื้นฟูหรือป้องกันอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อนเล็กน้อยไม่ให้เป็นรุนแรงมากขึ้น การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต้องอาศัยเวลา แรงจูงใจและเทคนิคที่ถูกต้อง (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง ใครว่ายาก?” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม)
การรักษาวิธีผ่าตัด
สำหรับสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนที่มีอาการมาก อาจเลือกรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมกับคุณที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อายุ ประวัติการผ่าตัดที่ผ่านมา ความรุนแรงของการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และสุขภาพโดยรวมของคุณ การผ่าตัดมี 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่ การผ่าตัดซ่อมเสริมและการผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอด ดังนี้
การผ่าตัดซ่อมเสริม (reconstructive surgery)
จุดประสงค์ของการผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกรานคือ การทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานกลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติทางกายวิภาค และยังคงมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ วิธีการผ่าตัดซ่อมเสริมสามารถทำได้ 2 ทางดังนี้
1. การผ่าตัดทางช่องคลอด
2. การผ่าตัดทางหน้าท้อง ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้อง
- การผ่าตัดผ่านกล้องฯ (ด้วยการเจาะรูเล็กๆบริเวณหน้าท้อง)
- การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องฯที่แพทย์ควบคุมการผ่าตัดผ่านทางหุ่นยนต์)
การผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอด (colpocleisis)
แพทย์อาจแนะนำให้คุณรับการผ่าตัดแบบนี้ หากการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอยู่ในขั้นรุนแรง หรือในกรณีที่คุณไม่ได้มีเพศสัมพันธ์แล้ว และไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกในอนาคต หรือในกรณีที่สุขภาพของคุณไม่เหมาะสมกับวิธีการผ่าตัดซ่อมเสริม วิธีการนี้แพทย์จะเย็บผนังช่องคลอดเข้าหากันเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนกลับเป็นซํ้าอีก ข้อดีของการเย็บปิดช่องคลอดคือใช้เวลาผ่าตัดน้อยและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ข้อเสียคือช่องคลอดจะตื้นและไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีก อัตราความสำเร็จของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เท่ากับร้อยละ 90-95
การผ่าตัดทางไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ?
ไม่มีการผ่าตัดทางไหนดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทุกราย การเลือกทางผ่าตัดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ประวัติการเป็นโรคของคุณ ความเชี่ยวชาญในวิธีผ่าตัดแบบต่างๆ และประสบการณ์ของแพทย์ ตลอดจนความต้องการของคุณเอง
แพทย์จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาแบบต่างๆ และแนะนำวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับภาวะและความต้องการของคุณ ทั้งนี้ การผ่าตัดจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แม้แต่ในกรณีของสตรี 2 ราย ที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนลักษณะเดียวกัน ยังอาจต้องการวิธีการรักษาที่แตกต่างกันได้
การผ่าตัดทางช่องคลอด
การผ่าตัดวิธีนี้ทำโดยการกรีดแผลที่ผิวภายในช่องคลอด แล้วเลาะแยกอวัยวะที่หย่อนออกจากผนังช่องคลอด จากนั้นจึงเย็บเนื้อเยื่อที่มีอยู่เดิม และ/หรือใส่วัสดุที่เป็นแผ่นตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรงและซ่อมแซมช่องคลอด อาจใช้วัสดุเย็บที่ไม่ละลายเย็บส่วนบนของช่องคลอดหรือปากมดลูกเข้ากับเอ็นที่แข็งแรงกว่าในบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อพยุงมดลูก หรือส่วนยอดของช่องคลอดหลังการผ่าตัดมดลูก เช่น การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดกับเอ็นยึดกระดูก (sacrospinous ligament suspension) หรือการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดกับเอ็นยึดมดลูก ( uterosacral ligament suspension)
การผ่าตัดทางแผลเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดวิธีนี้ทำโดยกรีดแผลทางหน้าท้องเข้าไป ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (sacrocolpopexy) รูปที่ 6 ส่วนยอดของช่องคลอดหลังการผ่าตัดมดลูกที่หย่อนจะได้รับการพยุงไว้ โดยการเย็บแขวนด้วยวัสดุเสริมที่เป็นแผ่นตาข่ายไปยึดกับกระดูกสันหลังใต้กระเบนเหน็บ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว? หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม) อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดทางหน้าท้องสามารถทำได้อีกหลายวิธี แพทย์จะอธิบายรายละเอียดเหล่านี้ให้คุณทราบ
รูปที่ 7 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (sacrocolpopexy)
การผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย
วิธีการผ่าตัดนี้คล้ายคลึงกับวิธีการผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องทุกประการ ต่างกันที่ผ่าตัดผ่านแผลเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้เร็วกว่า และแผลเป็นจากการผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่า ในปัจจุบันการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย มีบริการในศูนย์ผ่าตัดใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ เป็นต้น
มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุที่เป็นแผ่นตาข่ายเสริมในการผ่าตัดหรือไม่?
โดยทั่วไปการผ่าตัดซ่อมเสริมไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่เป็นแผ่นตาข่ายเสริมเสมอไป จะเลือกใช้ในกรณีการผ่าตัดซํ้าและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นซํ้าสูง วัสดุที่เป็นแผ่นตาข่ายเสริมอาจเป็นแบบละลายได้ทำจากเนื้อเยื่อสัตว์ (ชีวภาพ) ซึ่งจะค่อยๆ สลายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป หรือเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ไม่สามารถละลายได้ซึ่งจะคงอยู่ในร่างกายตลอดไป วัสดุที่เป็นแผ่นตาข่ายเสริมบางชนิดอาจมีส่วนผสมของวัสดุทั้งที่ละลายได้และละลายไม่ได้ คุณควรปรึกษากับแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้วัสดุเหล่านี้ก่อน
การผ่าตัดมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงใด?
ประมาณร้อยละ 75 ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดทางช่องคลอด และร้อยละ 90-95 ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดทางหน้าท้อง จะหายจากอาการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้เป็นเวลานาน การกลับเป็นซํ้าของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนนั้น อาจเกิดจากปัจจัยเดิมที่เป็นสาเหตุของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนในครั้งแรก เช่น ท้องผูกและเนื้อเยื่อที่อ่อนแออยู่เดิม
ถ้าหากยังต้องการมีบุตรควรทำอย่างไร?
ปกติแนะนำให้หลีกเลี่ยงการผ่าตัดเพื่อการรักษาอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนไปจนกว่าผู้ป่วยจะมีบุตรเพียงพอแล้ว ในระหว่างนั้นอาจใช้วิธีการรักษาเชิงอนุรักษ์ เช่น การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน หรือการใช้อุปกรณ์พยุงในช่องคลอดไปก่อน
ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แก้ไขปรับปรุง 7 มกราคม 2557
เ
อกสารอ้างอิง
- International Urogynecological Association (IUGA) Pelvic Organ Prolapse: A Guide for Women. 2011.
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/urogynecology/patient-education/3024/