ไข้รูมาติก 1 ในสาเหตุโรคหัวใจรูมาติก พบมากในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป - วัยรุ่น


ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) พบได้มากในเด็กวัยเรียนอายุ 5-15 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วทิ้งไว้ จะส่งผลต่อการติดเชื้อในหัวใจ จนลิ้นหัวใจพิการในระยะแบบนี้เรียกว่า “โรคหัวใจรูมาติก” (rheumatic heart disease) นอกจากนี้ยังถือว่าโรคนี้เป็นโรคที่พบเจอได้ง่าย และยังรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ถึงแม้ว่าจะรักษาหายไปแล้วก็ยังคงต้องติดตามอาการ และพบแพทย์เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง


ไข้รูมาติกมีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุตั้งต้นของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อชื่อ “เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A)” ที่บริเวณคอ หรือต่อมทอนซิล จนเกิดอาการอักเสบก่อนจะเข้าสู่ช่วงเป็นไข้รูมาติก นอกจากนี้ด้วยความที่พบเจอได้มากในเด็ก จึงส่งผลให้เชื้อโรคตัวนี้สามารถติดต่อได้ง่ายตามไปด้วย เพราะเด็กอายุ 5-15 ปี ต้องไปโรงเรียนเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้การเดินทางไปยังชุมชนแออัดยังถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ และการแพร่เชื้ออีกด้วย


เมื่อร่างกายได้รับเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้บางคนมีอาการคออักเสบซึ่งสามารถรับการรักษาจนหายเป็นปกติได้ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเนื่องจากปัญหาด้านภูมิต้านทานในร่างกายที่หันมาทำลายตนเองแทนเชื้อโรค แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท ผิวหนัง ข้อ เป็นผลให้เคลื่อนไหวผิดปกติ และยิ่งไปกว่านั้นสามารถทำให้เกิด “หัวใจอักเสบ” ได้ด้วย


ไข้รูมาติกติดต่อได้ไหม
จริง ๆ แล้วตัวโรคนี้ไม่สามารถติดต่อกันได้ เพราะตัวที่ทำให้เกิดการติดต่อคือตัวเชื้อ “เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A)” ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโรคนี้ต่างหาก หรือกล่าวง่าย ๆ คือ คนเป็นไข้รูมาติกไม่สามารถแพร่ไข้ใส่ผู้อื่นได้ แต่สามารถแพร่เชื้อที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้นั่นเอง
ไข้รูมาติกส่งผลอย่างไรกับร่างกายของเราบ้าง


อาการเบื้องต้นที่ทำให้สงสัยโรคไข้รูมาติก ได้แก่
1. มีไข้
2. ปวด บวม แดง ที่บริเวณข้อต่อ มากกว่า 1 ข้อขึ้นไป โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก ข้อมือ
3. มีผื่นขึ้นตามลำตัว
4. คลำพบก้อนใต้ผิวหนัง
5. มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก
6. มีอาการเจ็บหน้าอก
7. ตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจ
8. มีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้


นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการเป็นไข้รูมาติกยังเกิดกับจุดหลักของร่างกายทั้ง 4 จุด ได้แก่
1.หัวใจ เกิดการอักเสบ และการอักเสบจากหัวใจนั้นสามารถส่งผลรุนแรงในขั้นต่อไปได้ เช่น โรคหัวใจเรื้อรัง ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือหัวใจวายจนเสียชีวิตในที่สุด ในช่วงที่ลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบจนรั่ว หรือตีบจะเป็นช่วงที่เราเรียกว่า “โรคหัวใจรูมาติก” และสามารถเป็นแบบเรื้อรังได้ เป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ และลิ้นหัวใจพิการซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
2.ผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้ไม่มากนักโดยผื่นบนผิวหนังจะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แบบผื่นวงแดงบนผิวหนัง และตุ่มแข็งบนผิวหนัง อาการผื่นเหล่านี้นั้นจะเกิดขึ้นมาเพียงชั่วคราว และไม่มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด โดยปกติแล้วอาการที่ผิวหนังนี้จะเกิดขึ้นควบคู่กับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
3.ข้อกระดูก โดยส่วนมากมักจะเกิดกับข้อใหญ่ของร่างกายอาทิเช่น หัวไหล่ หัวเข่า ข้อศอก และข้อเท้า ในผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการปวดข้อถึงแม้ว่าข้อแทบจะไม่มีอาการบวมเลยก็ตาม การปวดข้อจากไข้รูมาติกนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับยาต้านการอักเสบ เช่น แอสไพริน เป็นต้น
4.สมอง และ 1 ในอาการอักเสบที่เกิดขึ้นนั้นยังสามารถเกิดกับสมองส่วนที่บังคับการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นผลให้การเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังติดเชื้อประมาณ 1-6 เดือน และจะเป็นมากขึ้นในตอนที่มีความเครียด หรืออาการล้า


รักษาไข้รูมาติกได้อย่างไร
หากพบว่าเด็กมีอาการปวดเมื่อยตามข้อ เหนื่อยหอบ เจ็บคอ หรืออาการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับการเป็นไข้รูมาติกให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป โดยในบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้เมื่อรักษาจนหายแล้วให้คอยเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการต่อไป เนื่องจากโรคนี้สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก


การป้องกันไข้รูมาติกเพื่อห่างไกลโรคหัวใจรูมาติก
เนื่องจากอันตรายของโรคนี้ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรู้เท่าทัน และทำการป้องกันโรคนี้ไว้ก่อน อาจเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่เราควรทำ ได้แก่
โรคนี้พบมากในเด็กวัยเรียนดังนั้นโรงเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับไข้รูมาติกกับเด็ก และคอยดูแลเรื่องสุขอนามัยในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ
ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผัก และผลไม้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัดเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ
เราคงจะได้รู้กันแล้วว่าโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อหัวใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แม้กับเด็ก จึงถือได้ว่าการดูแลสุขอนามัยของเด็กในทุกด้านของชีวิตให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันไข้รูมาติกสาเหตุของโรคหัวใจรูมาติกเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น



ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช/ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์