โรคคาวาซากิ โรคอันตราย เสี่ยงหัวใจพิการในเด็ก

อาการป่วยไข้ในเด็กมักดีขึ้นเมื่อกินยาลดไข้และเช็ดตัวไปตามอาการ แต่หากลูกน้อยมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส และดูเหมือนว่าไม่มีท่าทีลดลงโดยง่าย ต้องเฝ้าระวัง ! โรคคาวาซากิ อาการป่วยแบบเฉียบพลันในเด็กเล็กที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหัวใจสุดอันตราย แม้จะเป็นเด็กที่มีสุขภาพหัวใจแข็งแรงดีก็ตาม


โรคคาวาซากิคืออะไร
โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) หรือโรคหัดญี่ปุ่น มักพบในเด็กเล็ก ผู้ป่วยประมาณ 85% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบมากที่สุดในช่วงอายุ 18 - 24 เดือน อาการแรกที่พบคือ มีไข้สูงและไม่มีท่าทีลดลงแม้กินยาลดไข้ ร่วมกับความผิดปกติของเยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก ผิวหนังและต่อมน้ำเหลือง โรคคาวาซากิสามารถพบได้ทั่วโลกตลอดทั้งปี แม้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่เป็นหนึ่งในภาวะหลอดเลือดอักเสบที่พบได้มากที่สุดในเด็ก ผู้ป่วยจะมีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางทั่วร่างกาย เสี่ยงต่อการมีภาวะหลอดเลือดหัวใจและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต


สาเหตุของโรคคาวาซากิ
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าโรคคาวาซากิอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองผิดปกติ พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เชื่อว่าเป็นโรคไม่ติดต่อ แม้เคยป่วยเป็นโรคคาวาซากิแล้วก็ยังมีโอกาสเกิดโรคซ้ำในผู้ป่วยรายเดิม ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีวิธีป้องกันเด็กๆ จากโรคนี้ได้ แต่หากตรวจพบภายใน 10 วันหลังมีอาการ สามารถรักษาให้หายและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้


ชวนคุณพ่อคุณแม่เช็ก! อาการแบบนี้ลูกน้อยอาจเสี่ยงเป็นโรคคาวาซากิ
* มีไข้สูงเฉียบพลันติดต่อกันเกิน 5 วัน โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์
* ตาแดงทั้ง 2 ข้าง โดยไม่มีขี้ตา พบได้ภายใน 2-4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีไข้
* มีผื่นขึ้นตามแขน ขา ไปทั่วลำตัว และในบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม มักขึ้นภายในวันที่ 5 นับจากวันที่พบไข้ ลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นพบได้หลายรูปแบบ แต่จะไม่เป็นตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง บางครั้งอาจคล้ายกับผื่นลมพิษ, ผื่นในโรคหัด หรือลักษณะคล้ายผื่นนูนก็ได้
* ริมฝีปากแดง แห้งแตก เยื่อบุในปากแดง ลำคอแดง ลิ้นแดงและปุ่มรับรสมีขนาดใหญ่กว่าปกติ คล้ายผลสตรอว์เบอร์รี
* ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 1.5 เซนติเมตร ส่วนมากมักพบเพียงข้างเดียว
* มือ เท้า มีอาการบวมในช่วงแรก และมีผิวหนังลอกบริเวณขอบเล็บ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า


โดยในขณะเจ็บป่วยอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ในเด็กเล็กที่เคยได้รับวัคซีน BCG อาจพบการบวมแดงของบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้


ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่เกิดจากโรคคาวาซากิ ภาวะอันตรายที่ต้องระวัง!
ความอันตรายของโรคคาวาซากิ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ (Coronary artery) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง หรือตีบแคบลง เด็กๆ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว นำไปสู่การทำงานของหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุให้เกิดความพิการและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนนี้อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 – 4 ตั้งแต่พบไข้ และยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไปถึงช่วงสัปดาห์ที่ 5 - 6 เนื่องจากร่างกายอ่อนแออย่างต่อเนื่อง


การวินิจฉัยโรคคาวาซากิ
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการไข้สูงนานเกิน 5 วัน ร่วมกับอาการบ่งชี้โรคมากกว่า 4 ข้อ แต่หากมีไข้สูงเป็นเวลานานโดยไม่พบสาเหตุอื่น ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
* ตรวจเลือด (Blood Tests) เพื่อดูจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีมากขึ้น จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ดูระดับค่าการอักเสบที่สูงขึ้น และปริมาณโปรตีนไข่ขาว (Albumin) ที่ต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาวะการอักเสบของร่างกาย รวมถึงตรวจเอนไซม์ตับในเลือดว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติหรือไม่
* ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาว และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น
* ตรวจอัลตราซาวน์คลื่นความถี่สูงที่หัวใจ (Echocardiography) เพื่อประเมินลักษณะของหลอดเลือดว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจอักเสบ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง รวมถึงประเมินการอักเสบและการทำงานของหัวใจ เพื่อช่วยประกอบในการวินิจฉัย


วิธีการรักษาโรคคาวาซากิ
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคคาวาซากิ ควรต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการเฝ้าระวังภาวะหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น และควรได้รับการรักษาในทันที


ในส่วนของการรักษาจะมีการให้ยาอิมมุโนโกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin, IVIG) ทางหลอดเลือดดำ ร่วมกับการให้ยาแอสไพริน ซึ่งออกฤทธิ์ลดการอักเสบในร่างกาย และช่วยลดโอกาสเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ประสิทธิภาพสูงสุดในผู้ป่วยส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีการตอบสนองได้ดีหลังได้รับอิมมุโนโกลบูลินเพียงครั้งเดียว แต่อาจมีบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น และอาจต้องได้รับยาอิมมุโนโกลบูลินซ้ำ หรืออาจต้องพิจารณายาต้านการอักเสบกลุ่มอื่นเพิ่มเติม


แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและเชื้อก่อโรคคาวาซากิที่ชัดเจน จึงยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้โดยตรง ดังนั้นหากสังเกตพบอาการผิดปกติของลูกน้อยที่มีไข้สูงติดต่อกันเกินกว่า 5 วัน ให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และโอกาสเกิดความพิการต่อหัวใจดวงน้อยอย่างถาวร


 


ผู้เขียน
พญ.สุธิดา ชินธเนศ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก


ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต
https://www.vimut.com/article/Kawasaki-disease