กระดูกหักหนึ่งแห่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะหักได้อีกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

University of California, ScienceDaily

ข้อแนะนำปัจจุบันสำหรับดูแลโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะกล่าวว่า ภาวะกระดูกหักของกระดูกสะโพกหรือสันหลัง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหักในภายหลังได้ แต่การศึกษาครั้งใหม่ได้แสดงว่า กระดูกหักที่แขน เอว ขา หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นสัญญาณเตือนกระดูกหักเช่นเดียวกัน
          ภาวะกระดูกหักไม่ว่าจะเกิดที่ตำแหน่งไหน แสดงให้เห็นแนวโน้มโดยทั่วไปที่กระดูกจะหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ ในอนาคตได้ Dr. Carolyn Crandall ผู้นำการเขียนรายงานการศึกษาและศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ที่ David Geffen School of Medicine แห่ง UCLA กล่าว
          “ข้อแนะนำทางคลินิกในปัจจุบันได้เน้นกระดูกหักที่สะโพกและสันหลังเท่านั้น แต่การค้นพบของเราท้าทายต่อความเห็นดังกล่าว” Dr. Crandall กล่าวและบอกว่า “แต่การไม่ใส่ใจภาวะกระดูกหักไม่ว่าจะเป็นแบบใดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหักในอนาคต เรากำลังพลาดโอกาสในการพบตัวผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะกระดูกหักในอนาคต รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
          “ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและแพทย์ของพวกเธออาจไม่ทราบว่า แม้แต่กระดูกหักที่ข้อเข่ายังมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาวะกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกายในอนาคต”
          จากการศึกษานี้มีการเผยแพร่ในวารสาร EClinicalMedicine คณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบบันทึกข้อมูลตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2018 จากผู้หญิงวัย 50 ถึง 79 ปี จำนวนมากกว่า 157,000 คน ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจาก Women's Health Initiative โครงการศึกษาระดับชาติที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก National Heart, Lung, and Blood Institute

          คณะผู้วิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน กระดูกที่เริ่มหักที่แขนท่อนล่างหรือเอว, แขนท่อนบนหรือไหล่, ขาท่อนบน เข่า ขาท่อนล่างหรือข้อเท้า และสะโพกหรือเชิงกราน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ถึง 6 เท่าต่อภาวะกระดูกหักในเวลาต่อมา การค้นพบดังกล่าวปรากฏในทุกกลุ่มอายุที่ศึกษา โดยความเสี่ยงที่สูงขึ้นพบในกลุ่มผู้หญิงผิวดำที่ไม่ใช่ฮิสแปนิก กลุ่มฮิสแปนิกหรือละติน และผู้หญิงชาวเกาะย่านเอเชียแปซิฟิก Asian Pacific Islander มากกว่าผู้หญิงผิวขาวที่ไม่ใช่ฮิสแปนิก
          ผู้เขียนรายงานบอกว่า มีข้อจำกัดบางอย่างในการศึกษา ได้แก่ การที่ภาวะกระดูกหักมาจากการรายงานของผู้เข้าร่วมการศึกษาเอง อย่างไรก็ตาม การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงว่า สถิติกระดูกหักจากการรายงานด้วยตัวเอง ค่อนข้างแม่นยำเมื่อเทียบกับสถิติที่ได้จากบันทึกทางการแพทย์
          นอกจากนั้น นักวิจัยไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับซี่โครงหัก ซึ่งอาจทำให้ประเมินความเสี่ยงต่อกระดูกหักในตำแหน่งอื่นต่ำเกินไป จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบที่แท้จริงจะมีมากกว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา
          และมีการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเฉพาะในกลุ่มย่อยของผู้เข้าร่วมการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น นักวิจัยจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักในอนาคตมีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกหรือไม่
          แม้จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมผู้หญิงบางเชื้อชาติจึงมีความเสี่ยงมากกว่าต่อภาวะกระดูกหักในเวลาต่อมาหลังจากเกิดกระดูกหักครั้งแรก นักวิจัยได้เขียนว่า การค้นพบนี้ “แสดงถึงการติดตามผลในเชิงรุกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนซึ่งเคยประสบกับปัญหากระดูกหักครั้งแรก ผลการศึกษาของเราจะบอกถึงการให้คำปรึกษา ข้อแนะนำในอนาคต และการออกแบบการทดลองเพื่อการรักษา ที่เกี่ยวกับการเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองที่เหมาะสมสำหรับเภสัชบำบัด”