รู้เท่าทัน "โรคหลอดลมอักเสบ"

กรมการแพทย์

โรคหลอดลมอักเสบ คือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลม ทำให้เยื่อบุผิวภายในหลอดลมมีการอักเสบและบวม มีเสมหะในหลอดลมอุดกั้น ทำให้ช่องทางเดินหลอดลมแคบลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และอาจมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอ แสบคอ ในบางรายอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวได้ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย
                  สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดและไวรัสไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) หรือคลาไมเดีย (Chlamydia) นอกจากนี้ อีกปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย คือ การสูบบุหรี่ หรือต้องอยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่บ่อย ๆ รวมถึงการพบเจอมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ก๊าซพิษ สารเคมีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเวลานาน การติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ซึ่งระยะการแพร่กระจายเชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการหรือหลังเกิดอาการแล้ว โรคหลอดลมอักเสบแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
                1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนไข้หวัด มักเกิดเมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจไล่ลงไปจนถึงหลอดลม เกิดการอักเสบอาการบวมของเยื่อเมือกที่บุทางเดินหายใจระคายเคือง อาการของโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ มักมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบของโพรงจมูกหรือเป็นหวัด ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับการรักษาหรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ
                2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากทางเดินหายใจที่ได้รับสารระคายเคืองอย่างเรื้อรัง เช่น การสูบบุหรี่ต่อเนื่อง นับเป็นส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำให้ร่างกายสร้างสารออกมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ ส่งผลให้มีเสลดเสมหะที่เหนียวข้นและกำจัดออกยาก หลอดลมเกิดการอุดตันหรือการบวม ซึ่งช่องทางเดินอากาศในหลอดลมที่ตีบแคบลงทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังได้ด้วย อาการของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไอเรื้อรังต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี หรือ 2 ปี มีภาวะหายใจลำบาก เมื่อตรวจร่างกายอาจมีเสียงวี้ด มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจมีอาการหลอดลมอักเสบแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

              วิธีป้องกันการเกิดโรคหลอดลมอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีอากาศเย็นและแห้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดดมควัน กลิ่นฉุน สารเคมี ฝุ่น และสารระคายเคืองต่าง ๆ ควรดูแลร่างกายให้มีความแข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น วิ่ง เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ เป็นต้น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ รักษาอนามัยพื้นฐานด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง
               นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการรุนแรงมาก ไอเรื้อรังไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือไอเป็นเลือดร่วมด้วย มีไข้ ไอมาก หอบเหนื่อย จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจนก่อให้เกิดปอดอักเสบ นำไปสู่การพัฒนาให้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังด้วย