ครบเครื่องเรื่องรอบรู้เกี่ยวกับไทรอยด์

อ.นพ.บุญสาม รุ่งภูวภัทร และ อ.นพ.พนัส บิณศิรวานิช
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ต่อมไทรอยด์ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย โดยจะอยู่บริเวณกลางลำคอใต้ลูกกระเดือกทางด้านหน้าของลำคอ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นต่อมที่อยู่ข้างขวาและข้างซ้าย และจะมีแนวเชื่อมกันตรงกลางบริเวณหน้าหลอดลม ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยในการควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยร่างกายจะสามารถผลิตฮอร์โมนได้จากการสั่งงานจากสมอง ซึ่งสมองจะหลั่งฮอร์โมนมาควบคุมต่อมไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงร่างกายต้องมีสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ คือ สารไอโอดีน ในปริมาณที่เพียงพอจึงจะทำงานได้ปกติ
         ความผิดปกติที่สามารถเกิดได้ที่ต่อมไทรอยด์แบ่งเป็น 2 อย่างหลัก ๆ คือ ความผิดปกติที่ฮอร์โมน และความผิดปกติที่บริเวณโครงสร้าง เช่น การเกิดเนื้องอกขึ้นในต่อมไทรอยด์ ซึ่งความผิดปกติที่ฮอร์โมนอาจพบร่วมกับการเกิดเนื้องอกขึ้นในต่อมไทรอยด์ได้  โดยความผิดปกติที่ฮอร์โมนอาจจะเกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และการผลิตฮอร์โมนที่น้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากตัวต่อมไทรอยด์เองหรือส่วนของสมองที่ควบคุม  การรักษาในกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายเพื่อทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์กลับมาปกติ โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการให้ยา อาจจะมีผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการกลืนแร่ และการผ่าตัด
         ส่วนความผิดปกติที่บริเวณโครงสร้างและการมีเนื้องอกขึ้นมาในต่อมไทรอยด์ ในอดีตนั้นเกิดจากประชาชนประสบปัญหาการขาดสารไอโอดีน จึงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โต ที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่า “โรคคอพอก”   ในกลุ่มนี้พอได้รับยารักษา ก้อนก็จะยุบลง  แต่ปัจจุบันการขาดสารไอโอดีนพบได้น้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาด้วยก้อนเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ที่ไม่ค่อยตอบสนองกับการได้รับยา เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์จะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ และการเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอกไปตรวจ เมื่อได้ผล แพทย์จะประเมินจากผลตรวจ และแจ้งแนวทางการรักษา ซึ่งการรักษาเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จะแบ่งเป็นการติดตามอาการที่ผิดปกติ ขนาดก้อน การเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอก และการผ่าตัด 

         การผ่าตัดในต่อมไทรอยด์จะทำต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ คือ ก้อนที่มีขนาดโตจนมีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดอาหารและหลอดลม ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากหรือหายใจเหนื่อย,  ก้อนที่มีลักษณะสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มมะเร็ง และก้อนที่ผู้ป่วยต้องการที่จะผ่าตัดเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความสวยงาม เป็นต้น โดยการผ่าตัดจะมีความเสี่ยงที่สำคัญ แม้โอกาสเกิดขึ้นได้น้อย คือ เสียงแหบจากการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเส้นเสียง ซึ่งอยู่บริเวณใต้ต่อต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรสอบถามรายละเอียดความเสี่ยงต่าง ๆ จากการผ่าตัดกับแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดเป็นรายบุคคล
         การผ่าตัดโดยทั่วไปสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดแบบเปิด โดยผู้ป่วยจะมีแผลบริเวณตรงกลางคอประมาณ 2 ถึง 4 นิ้ว  และการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีทางเข้าบริเวณอื่นทำให้ไม่เกิดแผลเป็นที่คอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องสอบถามรายละเอียดเป็นรายบุคคลกับแพทย์ที่ทำการผ่าตัด
         ในปัจจุบันจะพบผู้ป่วยที่ตรวจพบเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโต ประเภทที่ตรวจพิสูจน์แล้วว่าไม่พบลักษณะมะเร็ง ทั้งจากการตรวจอัลตราซาวนด์และการเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอก ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีทางเลือกในการรักษาทางใหม่นอกจากการผ่าตัด คือ การใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ความเข้มข้นสูง (High Intensity Focus Ultrasound: HIFU) ส่งคลื่นความร้อนผ่านบริเวณผิวหนังเข้าไปทำให้ก้อนบริเวณเนื้องอกเกิดการยุบตัว ลดขนาดของเนื้องอกลงได้ประมาณ 20 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
        อย่างไรก็ตาม อาจมีรายละเอียดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ผู้ป่วยจึงควรสอบถามข้อมูลอีกครั้งกับแพทย์ผู้ทำการรักษา