โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วไป ปัจจุบันในปีพ.ศ. 2563 มีผู้ป่วยสะเก็ดเงินทั่วโลกประมาณ 125 ล้านคน1 สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเป็นได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน คือปัจจัยด้านพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยภายนอก ส่งสัญญาณไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสร้างสารเคมีบางชนิดไปกระตุ้นให้ผิวหนังมีการอักเสบและหนาตัวขึ้น โรคสะเก็ดเงินพบรอยโรคเป็นผื่นนูน แดง เป็นปื้นหนา มีสะเก็ดสีขาวปกคลุมทั่วผื่น ผู้ป่วยอาจมีอาการคันได้ สามารถพบผื่นสะเก็ดเงินได้ในทุกตำแหน่งของร่างกาย แต่จะพบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัวส่วนหลัง ศอก เข่า หน้าแข้ง โรคสะเก็ดเงินมีลักษณะผื่นได้หลายชนิด ประกอบด้วย
• โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา (plaque-type psoriasis) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 70 พบลักษณะผื่นนูนแดงหนาที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี กดทับ
• โรคสะเก็ดเงินชนิดหยดน้ำ (guttate psoriasis) พบผื่นขนาดเล็กกระจายทั่วลำตัว มักพบในคนอายุน้อย
• โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (pustular psoriasis) พบตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังสีแดง ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หรือเจ็บบริเวณผื่นร่วมด้วย บางครั้งผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาอาจพบตุ่มหนองร่วมด้วยได้ ในกรณีที่มีการกำเริบของโรค
• โรคสะเก็ดเงินชนิดแดงลอกทั่วตัว (psoriasis erythroderma) ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงลอกเกือบทั่วผิวกาย จัดเป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง อาจมีไข้ร่วมด้วย นอกจากนั้นจะมีการสูญเสียโปรตีนไปทางสะเก็ดที่หลุดร่วง
• โรคสะเก็ดเงินบริเวณมือ เท้า (palmoplantar psoriasis) พบผื่นแดงหนาเด่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า พบผิวหนังแตกเป็นร่องได้ ทำให้มีอาการเจ็บเวลาลงน้ำหนัก
รศ.พญ.นฤมล ศิลปอาชา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงินสามารถพบรอยโรคที่เล็บได้ โดยพบที่เล็บมือบ่อยกว่าเล็บเท้า รอยโรคที่พบเช่น เล็บเป็นหลุม เล็บร่อน ขุยหนาใต้เล็บ เล็บผิดรูป เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายพบมีข้ออักเสบสะเก็ดเงินร่วมด้วย โดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 15-30 ซึ่งอาจพบการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นใกล้ข้อ การอักเสบในข้อทั้งส่วนรยางค์และข้อแกนกลางลำตัวได้
การรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้น แพทย์จะต้องปรับตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยคำนึงถึงปัจจัยหลักคือ ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน ความรุนแรงของผื่น โรคประจำตัวของผู้ป่วยและอาการทางข้อ โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีผื่นน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวกาย อาจพิจารณาใช้เป็นยาทาในเบื้องต้น ในกรณีที่ผื่นเป็นมากกว่าร้อยละ 10 อาจพิจารณายารับประทานหรือการฉายแสงอาทิตย์เทียม หรือในบางรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจพิจารณาให้ยาฉีดชีวภาพ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางข้อควรพบแพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อเพื่อช่วยประเมินและดูแลรักษาร่วมกัน
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน มีข้อแนะนำปฏิบัติดังนี้
1. ควรพบแพทย์ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความรุนแรงของผื่นและอาการทางข้อ และแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนการรักษาถ้ามีข้อบ่งชี้ ในรายที่ใช้ยาทา แพทย์อาจจะปรับยาให้มีความเหมาะสมกับความหนาของผื่น ในรายที่รับประทานยา จะได้รับการเจาะเลือดติดตามผลข้างเคียง ในกรณีผู้ป่วยฉายแสงอาทิตย์เทียมแพทย์จะทำการปรับแสงให้เหมาะสมเมื่อผื่นมีอาการดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีดชีวภาพจะได้รับการตรวจติดตามผลเลือดและผลข้างเคียงอื่นๆ เป็นระยะ
2. ควรรักษาโรคประจำตัวควบคู่กันไปด้วย พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความสัมพันธ์กับโรคในกลุ่มเมตะบอลิค (Metabolic syndrome) ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินมากจะมีความสัมพันธ์กับโรคดังกล่าวสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องรักษาโรคประจำตัวควบคู่กันไปกับการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
3. ควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ โดยดูจากค่ามวลดัชนีกาย ในผู้ป่วยไทย ค่ามวลดัชนีกายในเพศหญิงไม่ควรเกิน 23
และในเพศชายไม่ควรเกิน 25 โดยรับประทานอาหารในปริมาณพอเพียง และเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น อาหารจำพวกผัก ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ผลไม้ที่ไม่หวานจัด ข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถั่ว เนื้อปลา น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ซึ่งเป็นอาหารคุณภาพดี เป็นไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่มีน้ำตาลสูง ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวขาว อาหารทอด เนื้อแดง เนื้อสัตว์ติดมัน กะทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลเชิงเดี่ยวและไขมันอิ่มตัวจำนวนมาก
4. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยออกกำลังกายชนิดแอโรบิค ให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นกว่าค่าสูงสุดปกติประมาณร้อยละ 60-70 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและช่วยคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
5. ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ ไม่ว่าจะเป็น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การแกะเกา การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเครียด ควรทำความเข้าใจกับตัวโรคว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดวิธีเดียวที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่การรักษาต่อเนื่องจะทำให้โรคดีขึ้นได้มาก ร่วมกับการลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆ สำหรับญาติหรือคนในครอบครัวควรทำความเข้าใจว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ การให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความเครียดลงได้ นอกจากนั้นอาจฝึกลดความเครียดโดยใช้การนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเครียดสูงหรือมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ควรแจ้งแพทย์ที่ดูแลเพื่อจะได้รักษาควบคู่กันไป
ในทุกวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีที่ถือให้เป็นวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day) สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงขอเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน เพื่อให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม มีความรู้เกี่ยวกับโรคที่ตนต้องเผชิญ เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองในการรักษา ในการลดอุบัติการณ์ของโรคร่วมและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
1 Armstrong AW, Read C. Pathophysiology, Clinical Presentation, and Treatment of Psoriasis: A Review. JAMA. 2020 May 19;323(19):1945-1960.