โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease)

พญ.สุธรรมา ตังควิเวชกุล
โสตศอนาสิกแพทย์เฉพาะทางต่อยอดโรคหูและโรคระบบประสาท
แผนกโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โรงพยาบาลสุโขทัย

อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน ตลอดจนโรคของระบบทางเดินประสาทและสมอง   โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยสาเหตุหนึ่งของอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มอายุประมาณ 20-50 ปี พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยส่วนใหญ่มักจะพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป  สาเหตุของโรคเกิดจากการไม่สมดุลกันของการสร้างและการดูดซึมน้ำในหูชั้นใน เมื่อน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ  ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินของหูชั้นใน จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และความผิดปกติทางการได้ยินตามมา 

ภาพเปรียบเทียบปริมาณน้ำในหูของคนปกติเทียบกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ที่มา : https://www.nature.com/nrdp

          อาการที่พบได้บ่อยของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ได้แก่
          1. เวียนศีรษะ บ้านหมุน  มักจะมีอาการนานมากกว่า 20 นาที  บางรายอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมง  มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากร่วมด้วย  หลังจากที่หายบ้านหมุนแล้วผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเวียนศีรษะโคลงเคลงต่ออีกหลายวัน  อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการทุกวัน หรือนาน ๆ ครั้งก็ได้ แต่ละครั้งที่มีอาการ อาจมีอาการเป็นระยะเวลาเป็นนาที หรือนานเป็นชั่วโมงก็ได้ ในรายที่มีอาการบ่อย ๆ และรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
         2. การได้ยินผิดปกติ  ได้แก่ ระดับการได้ยินลดลงหรือหูดับ  มีเสียงดังรบกวนในหู และอาการหูอื้อ โดยส่วนใหญ่ระยะแรกมักพบในหูข้างเดียว  ระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้ง 2 ข้าง อาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วงแรก เมื่อร่างกายกลับคืนสู่ปกติ การได้ยินอาจจะกลับมาดีเหมือนเดิม  แต่ถ้าควบคุมโรคได้ไม่ดี  อาการจะแย่ลงจนสูญเสียการได้ยินถาวรและมีเสียงดังในหูถาวร
        การวินิจฉัย โรคนี้ประกอบด้วย การซักประวัติ อาการที่สำคัญทั้ง 3 อาการ คือ เวียนศีรษะ บ้านหมุน การได้ยินลดลงและหูอื้อ หรือเสียงดังในหู   การตรวจร่างกายระบบทั่วไป ระบบหู คอ จมูก และระบบประสาทการทรงตัว การตรวจการได้ยิน การตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น ๆ การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response : ABR) หรือการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินเนื้องอกเส้นประสาทหู
        การรักษา ประกอบด้วย การใช้ยารักษาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมและควบคุมอาหาร  ถ้าไม่ได้ผลหรือในรายที่อาการรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดรักษา
        การใช้ยารักษา  แบ่งเป็นยารักษาในช่วงที่เกิดอาการเฉียบพลันและยาเพื่อควบคุมอาการในระยะยาว
        •  ยารักษาในช่วงที่เกิดอาการเฉียบพลัน  เป็นยาที่กดประสาทระบบเวียนศีรษะเพื่อช่วยยับยั้งอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนเฉียบพลัน ได้แก่ ยากลุ่ม Dimenhydrinate , Scopolamine ยาในกลุ่มนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว เนื่องจากมีฤทธิ์กดระบบประสาท  เมื่อรับประทานยาจำพวกนี้ควรงดการขับขี่รถเพราะยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงมาก
        •  ยาเพื่อควบคุมอาการในระยะยาว เช่น ยาขยายหลอดเลือด จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น บางรายที่อาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อทำให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง โดยยาต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์จะปรับปริมาณยาตามอาการ  และต้องใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้
        การปรับพฤติกรรมและควบคุมอาหาร  เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษา พบว่า ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  อาการและความถี่ของโรคจะลดลง   การปฏิบัติตัวที่สำคัญ ได้แก่
        •  การควบคุมอาหาร
            - จำกัดอาหารเค็ม เพราะจะทำให้มีน้ำคั่งในหูชั้นในมากขึ้น
            - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน ได้แก่  ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้  
            - งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
        •  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
        •  หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ  นานครั้งละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง  มากกว่า 3-4วันต่อสัปดาห์
        •  ลดความเครียด
        การผ่าตัด  ในรายที่มีอาการรุนแรง  รบกวนคุณภาพชีวิต และไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้จากยาและการปรับพฤติกรรม อาจจำเป็นต้องผ่าตัดหูชั้นในเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน  การผ่าตัดรักษาจะช่วยทำให้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนดีขึ้น แต่ก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นด้วย
        โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน   รู้เร็ว  รักษาเร็ว ปรับพฤติกรรมสม่ำเสมอ รับประทานยาตามแพทย์แนะนำ ลดความรุนแรงของโรคได้  และผู้ป่วยจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีคืนกลับมา