มีคนมากมายที่ต้องทรมานกับโรคกรดไหลย้อน วันนี้เรามีข้อมูลที่ควรรู้มาฝากครับ
1. อาการเรอ คลื่นไส้ หรือมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่อกหรือคอ เกิดจากความดันที่ช่องท้องเพิ่มมากขึ้น สาเหตุจาก
• กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ
• อาหารมีส่วนอย่างมาก
- ประเภทมันๆที่ปรุงด้วยการผัดและทอดทุกชนิดจะย่อยยาก ทำให้ท้องอืดได้ง่าย
- ส่วนน้ำเต้าหู้และน้ำอัดลม จะทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก
- รวมทั้งชา กาแฟ จะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน
- หากอยากดื่มนม ควรดื่มเฉพาะนมไร้ไขมัน (FAT=0%) ส่วนไข่ ควรกินเฉพาะไข่ขาว เนื่องจากไขมันในนมหรือไข่แดงนั้นย่อยยาก จึงทำให้การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารช้า
• น้ำหนักตัวที่เพิ่ม หรือเกินค่าปกติ
• ท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งเวลาถ่ายผลตามมาคือ ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น อาจต้องกินยาถ่ายช่วย ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรแก้ที่ต้นเหตุโดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ดื่มแต่น้อยแต่บ่อย ๆ และกินผักผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้นก็จะช่วยในเรื่องขับถ่ายได้
• ขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าคนที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนตัวได้ดี และยังลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือดเพื่อป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โดยออกกำลังกายต่อเนื่องวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืดแบบปรับน้ำหนักใน FITNESS เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล
2. เสียงแหบ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาไปสัมผัสสายเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้สายเสียงบวม ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว ทำให้มีเสียงแหบได้ สาเหตุที่มีเสียงแหบตอนเช้า เกิดจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน สายเสียงจึงถูกกรดสัมผัสมากกว่าช่วงอื่น ๆ ของวัน ทำให้ขณะตื่นมาตอนเช้า มีเสียงแหบได้
3. ไอเรื้อรัง เกิดจากกรดไหลย้อนลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่แย่กว่านั้น บางรายอาจเกิดอาการหอบหืด โดยหลอดลมจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ของฉุน ฝุ่น ควัน อากาศที่ เปลี่ยนแปลงมากผิดปกติ อาการไอหลังกินอาหารเกิดจากอาหารทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น จนกรดไหลลงไปในหลอดลมได้ ส่วนการที่ไอตอนกลางคืน หรือก่อนนอนมักเกิดจาก
• ห้องนอนอาจรก มีฝุ่นมาก เวลาสูดหายใจเข้าไป จะไปกระตุ้นภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้ไอกลางคืนหรือไอช่วงเช้า คล้ายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรจัดห้องนอนให้โล่งและสะอาด
• อากาศในห้องนอนอาจเย็นเกินไป ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมพอสมควร ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หรือผ้าพันคอเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้าหรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนา ๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน
4. อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอหรือแน่นคอ หรือกลืนติด ๆ ขัด ๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และเกิดความรู้สึกดังกล่าว การกินยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง บางรายอาจมีอาการกลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ หรือปาก หรือแสบลิ้นได้
5. การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ แสบคอ เจ็บคอ หรือระคายคอได้
6. อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหารที่อยู่ในช่องอก และกระตุ้นเส้นประสาทในหลอดอาหารทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลมและปอด อาจทำให้มีการอักเสบของปอดเป็น ๆ หาย ๆ ได้
7. อาการไอ สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน
8. การที่กรดไหลย้อนออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึง
• เยื่อบุจมูกทางด้านบน ทำให้มีอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะไหลลงคอได้ หรือทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ของจมูกอยู่แล้ว มีอาการแย่ลงได้
• ถ้ากรดขึ้นไปสูงถึงรูเปิดของหูชั้นกลางที่อยู่ที่โพรงหลังจมูก อาจทำให้รูเปิดดังกล่าวบวม ทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกทำหน้าที่ผิดปกติไป เกิดหูอื้อ เสียงดังในหูเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดหูได้
• ถ้ากรดไหลเข้าไปในช่องปาก อาจกระตุ้นต่อมสร้างน้ำลาย ทำให้มีน้ำลายมากผิดปกติ หรือกรดไปกัดกร่อนฟัน ทำให้เกิดฟันผุหรือเสียวฟันได้ การที่กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้พาเอากลิ่นอาหารในกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปากได้
9. โรคนี้หมอมิได้ให้ผู้ป่วยกินยาตลอดชีวิต เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ทั้งนิสัยส่วนตัว การกินอาหาร และนิสัยการนอน หมอจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหยุดยาได้ สิ่งสำคัญคือไม่ควรปรับยากินเองในระยะแรก นอกจากหมอจะอนุญาต ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังให้การรักษาประมาณ 1–3 เดือน
ทั้งนี้อาการจะดีขึ้นเร็วหรือช้า อยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และแม้ว่าหมอจะให้หยุดยาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะหายขาด ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้
เรื่องกรดไหลย้อน... ที่ควรรู้
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสตนาสิก ราลิงค์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล