ถ้าท่านมีปัญหา เสลด หรือเสมหะในคอ (chronic secretion in the throat) ตลอด เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเดือน หรือเป็นปี จะทำอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบ
เสลด หรือ คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ การที่มีเสมหะ หรือเสลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรค หรือภาวะบางอย่าง ดังนี้
1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of nasal mucosa) เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ (postnasal drip) โดยน้ำมูกที่ไหลลงคอก็จะกลายเป็นเสลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง ซึ่งมักจะมีสีขาวใส หรือขุ่น ยกเว้นเวลาเช้า เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมา อาจมีสีเหลืองขุ่นได้เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำมูก หรือเสมหะ อยู่ในจมูกหรือคอเป็นระยะเวลานาน
2. โรคไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis) เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกให้มีเสมหะไหลลงคอได้เหมือน ข้อ 1 นอกจากนี้ สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมาและไหลลงคอกลายเป็นเสมหะได้ มักจะมีสีเขียว หรือเหลืองตลอดเวลา (มักบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย)
3. โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ นอกจากนั้น กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป ทำให้มีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอได้ นอกจากนั้น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux) กรดไหลย้อนที่ออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึงเยื่อบุจมูกทางด้านบน และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูกให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีน้ำมูกหรือมีเสมหะไหลลงคอได้
4. การใช้เสียงผิดวิธี (muscle misuse dysphonia) การที่ใช้เสียงในการพูดมาก มักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก คล้ายกับการออกกำลังกายให้เหนื่อย ซึ่งจะมีการหายใจทั้งทางจมูกและปาก จมูกซึ่งมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้ชื้นและอุ่นขึ้น และกรองสารระคายเคืองต่าง ๆ ในอากาศก่อนเข้าสู่ลำคอ จึงไม่ได้ทำหน้าที่ ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอแห้งและเย็น ร่างกายอาจปรับตัวโดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนั้น สารระคายเคืองต่าง ๆ ในอากาศอาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้
5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) และโรคหืด (asthma) โรคทั้ง 2 ดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of bronchial mucosa) เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลมหรือคอตลอดได้
6. การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ (chronic infectious pharyngitis) เช่น จากเชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ ซึ่งอาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้
7. การระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ (chronic irritative and/or traumatic pharyngitis) เช่น การสัมผัสสารเคมี, มลพิษ, สารระคายเคือง เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมี มลพิษ หรือสารระคายเคืองมาก, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การไอ, การอาเจียนที่บ่อยและเรื้อรัง, เนื้องอกในลำคอ, พังผืด หรือแผลเป็นในลำคอ หรือแม้แต่การที่อยู่ในห้อง หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ หรืออาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้
จะเห็นว่ามีสาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะในคอมากมาย การรับประทานยาละลายเสมหะ จึงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดจริง ๆ แล้วคือ น้ำ ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเสมหะในคอ ควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติ, ตรวจร่างกาย และส่งการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของเสมหะในคอที่ถูกต้อง ซึ่งการรักษาเสมหะในคอนั้น รักษาตามสาเหตุ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บทความสุขภาพ, SIRIRAJ ONLINE Good health everywhere