นอนไม่หลับ ทำอย่างไรในทางการแพทย์แผนไทย

ในปัจจุบันมีผู้ที่ประสบปัญหา “นอนไม่หลับ” เพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความเครียด จากการทำงาน ปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ร่างกายขาดประสิทธิภาพการทำงาน และนำมาซึ่งด้วยอาการต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ “ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)”
          ในทางแผนปัจจุบัน อาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งยากลุ่มที่จิตแพทย์นิยมใช้ คือ ยากลุ่ม Benzodiazepines โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลางแล้วมีผลให้สาร GABA ในสมองทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นยากลุ่มนี้จึงมีคุณสมบัติยับยั้งการสื่อประสาทของสาร GABA ยากลุ่มนี้มีทั้งที่ออกฤทธิ์สั้นและเร็วเหมาะกับผู้ที่นอนหลับยาก (เช่น ยา Midazolam, Triazolam) และยาที่ออกฤทธิ์นานพอสมควรเหมาะกับผู้ที่ตื่นบ่อย เช่น ยา Temazepam แต่สิ่งที่ตามมา คือ ยิ่งเราทานยานี้มากเท่าไร เราต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นตามเวลา แถมยังส่งผลต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และระบบหายใจ เช่น มึนงง วิงเวียน ปวดกล้ามเนื้อ ขี้ลืม ร้ายแรงกว่านั้น คือ กดการหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิต
          ในมุมมองทางแผนไทย อารมณ์ที่ผิดปกติหรือปัญหาทางจิต เกิดจากไฟตัวหนึ่ง คือ “ปริทัยหัคคี” ซึ่งเป็นไฟที่ทำหน้าที่พัดพาความร้อนจากแกนกลางออกสู่ระยางค์ ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยได้ระบุไว้ว่า ถ้าไฟตัวนี้ผิดปกติหรือหย่อนไปจะทำให้มีอาการ “มือเย็นเท้าเย็น ชีพจรไม่เดิน ประการหนึ่งชีพจรขาดหลัก บางทีให้ตัวเย็นดุจน้ำ แต่ภายในร้อนให้รดน้ำอยู่มิรู้ขาด บางทีให้ตัวเย็นแล้วเสโทธาตุ (เหงื่อ) ดุจเมล็ดเข้าโพด” ซึ่งคำว่า “มือเย็นเท้าเย็น ชีพจรไม่เดิน ชีพจรขาดหลัก” หมายถึง ความผิดปกติของระบบหมุนเวียนโลหิต “ให้ตัวเย็นดุจน้ำ แต่ภายในร้อน” หมายถึง การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งทั้งสองกลไกนี้ควบคุมทั้งร่างกาย ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจจึงมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือวิงเวียนศีรษะด้วย
          โดยตำรับยาทางแผนไทยมีกล่าวไว้หลายแหล่ง ซึ่งกลไกของยาไทยจะไปแก้ปัญหาที่จิตใจ หรือ ไฟปริทัยหัคคี วันนี้ผมจะยกตัวอย่างตำรับยาจากตำราเพชรน้ำหนึ่ง (วิพุธโยคะ, 2534) ชื่อว่า “ยาแก้โรคนอนไม่หลับ” มีส่วนประกอบ คือ ลูกมะตูมอ่อน บอระเพ็ด พริกไทยล่อน ขมิ้นอ้อย รากระย่อมเล็ก หนักสิ่งละ 15 กรัม วิธีทำนำสมุนไพรทั้งหมดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งรวงแท้ๆ ทำเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย กิน 3 เม็ดก่อนนอน มีสรรพคุณ ทำให้นอนหลับสนิท โดยกลไกของยาตำรับนี้ คือ การไปปรับลดไฟในจิตใจที่มากหรือน้อยเกินไปให้อยู่ในสมดุล ส่งผลให้ระบบลมในร่างกายและระบบน้ำพลอยสมดุลไปด้วย ทำให้ไฟที่หย่อนหน้าที่ไปกลับมาทำงานตามปกติ

          นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2556 คือ “ยาหอมเทพจิตร” โดยมีข้อบ่งใช้ คือ แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
          ขนาดและวิธีใช้: ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง หรืออาจจะใช้ครั้งละ 1/2 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1/4 ของแก้ว รับประทานตอนเช้าและก่อนนอน ชนิดเม็ดรับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
          ข้อควรระวัง: ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets), ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

          นอกจากตำรับยาเหล่านี้แล้ว สมุนไพรที่หาได้รอบบ้านก็ยังสามารถใช้แก้อาการนี้ได้ ซึ่งในสมัยก่อนปู่ย่าตายายได้ใช้สมุนไพรเหล่านี้มาเป็นยา โดยไม่ต้องพึ่งยาฝรั่งหรือต้อง admit เข้าโรงพยาบาลเลย โดยสมุนไพรทั่วๆ ไปที่เราหาได้ ตัวอย่างเช่น ใบขี้เหล็ก สัก 2 กำมือ ใส่น้ำท่วมยา ต้มให้เหลือน้ำครึ่งถ้วย นำมาดื่มก่อนนอน หรือจะนำใบขี้เหล็กมาแกงกินก็ช่วยได้ดี หรือ เมล็ดชุมเห็ดไทย 1-2 กำมือ คั่วให้เกรียมหอม เอามาตำไม่ต้องแหลกมาก นำมาต้มพอเดือด นำมากรองเอาน้ำดื่มแทนน้ำชาก็ได้ หรือจะดื่มเช้า-เย็น ก็ได้
          วิธีแก้อาการนอนไม่หลับง่ายๆ โดยการไม่ทานยา ได้แก่
          - จัดห้องนอนให้เหมาะสม เช็ครอบห้องให้ดี อย่าให้มีเสียงรบกวน ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสมไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และที่สำคัญ คือ ห้องนอนควรมืดสนิท เพื่อการนอนหลับที่ดีและมีประสิทธิภาพ
          - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลังช่วงบ่ายจนถึงช่วงก่อนนอน
          - ก่อนนอน ดื่มนมอุ่นๆ สักแก้ว จะช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น
          - เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ไม่ควรงีบหลับตอนกลางวัน เพราะอาจรบกวนการนอนกลางคืน
          - นอนให้เพียงพอ อย่านอนมากเกินไป หลังตื่นนอนควรลุกออกจากเตียง เดินไปสูดอากาศยามเช้า
          - หลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดหรือความกังวลใจ
          - ถ้านอนไม่หลับเกิน 15-20 นาที ควรลุกออกจากเตียงมาหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือหรือฟังธรรมมะ อาจจะช่วยให้รู้สึกง่วงได้ หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ เพราะแสงจากจอจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวได้
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายจะช่วยลดความตึงเครียดทางอารมณ์และร่างกายได้
          เป็นยังไงบ้างครับกับภาวะนอนไม่หลับทางแผนไทย ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเจอได้ในทุกเพศทุกวัย หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตลดลง ดังนั้นให้แพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งของคุณสามารถมาปรึกษาและขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาของคุณได้อีกทางหนึ่ง “ขอบคุณครับ”

ขอขอบคุณ : นายบดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   
                : https://www.ttmed.psu.ac.th