ทานน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าวเยอะ เสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่

น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว คุณผู้หญิงหลาย ๆ ท่านอาจมีความเชื่อหรืออาจได้ยินมาว่า น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว ทานเยอะเสี่ยงมะเร็งเต้านม เพราะอาหารเหล่านี้มีสารที่คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาหาคำตอบกันดีกว่า


มะเร็งเต้านม ภัยร้ายอันดับ 1 ของหญิงไทย
ข้อมูลสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของหญิงไทย และเริ่มพบมากขึ้นในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป อัตราการเกิดมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่
* พันธุกรรม ผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงสูงขึ้น
* ฮอร์โมน การใช้ยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น
* พฤติกรรมการใช้ชีวิต ภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม


ฮอร์โมนเพศหญิงกับมะเร็งเต้านม
ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเติบโตของเซลล์เต้านมก็คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
* เอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนชนิดนี้มีบทบาทในการพัฒนาและควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์หญิง เช่น การเจริญเติบโตของเต้านมและการมีประจำเดือน ระดับเอสโตรเจนที่สูงเกินไปอาจนำไปสู่การเติบโตของเซลล์เต้านมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้
* โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนนี้ทำงานร่วมกับเอสโตรเจน โดยมีบทบาทในการควบคุมการเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกและการรักษาสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ผู้หญิงที่มีระดับโปรเจสเตอโรนที่ต่ำอาจมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้น

สารคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง คืออะไร พบได้ที่ไหนบ้าง?
สารที่พูดถึงนี้เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) เป็นสารประกอบจากธรรมชาติที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน พบในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลืองที่ถูกนำมาทำเป็นน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลือง รวมถึงน้ำมะพร้าวด้วย สารเหล่านี้มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย แต่มีความแรงที่อ่อนกว่าไม่ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเหมือนฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเอง


กินน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว แล้วเสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่
น้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลืองมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบริโภคถั่วเหลืองมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือด เช่นเดียวกันกับน้ำมะพร้าวซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่สดชื่น ช่วยในการเติมน้ำให้กับร่างกายในวันที่อากาศร้อน น้ำมะพร้าวยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินหลายชนิด ที่มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม
และถึงแม้จะไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) แต่การบริโภคในระดับที่พอเหมาะก็ไม่ได้มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้ เนื่องจากในท้องตลาดเครื่องดื่มเหล่านี้อาจมีการเติมสารปรุงแต่งลงไป เช่น น้ำตาล การบริโภคที่มากเกินไปอาจทำให้แคลอรีพุ่งสูงและส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา

อ่านจบแล้วคุณผู้หญิงก็สามารถรับประทานเครื่องดื่มเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ และแน่นอนต้องไม่ใช่ปริมาณที่มากเกินไป และอีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัย 35 ปี ขึ้นไป การตรวจคัดกรองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อให้คุณสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที อาจเริ่มจากการตรวจคลำด้วยตนเองที่บ้าน และเข้ามาตรวจแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์เป็นประจำในทุก ๆ ปี เพื่อให้เรารู้ว่าร่างกายตนเองเป็นอย่างไร มีจุดที่ผิดปกติหรือไม่




 


ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก  โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์


https://www.phyathai.com/th/article/coconut-juice-soy-milk-cancer-risk-ptn