การแคะจมูกอาจมีผลต่อความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Griffith ในออสเตรเลียชี้ว่า การแคะจมูกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อความเสี่ยงมากขึ้นของการเกิดโรคอัลไซเมอร์


ศาสตราจารย์ James St John หัวหน้าทีมวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการแพร่เชื้อของแบคทีเรียที่มีชื่อ Chlamydia pneumoniae ผ่านโพรงจมูกของหนูทดลอง ผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นที่เชื่อมต่อไปยังสมอง โดยพบว่ายิ่งมีความเสียหายต่อเยื่อบุจมูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ตามสันโพรงจมูก การติดเชื้อที่เส้นประสาทก็ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น สมองของหนูจะสะสมโปรตีนอะไมลอยด์-เบต้ามากขึ้น ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ และก้อนหรือคราบสารโปรตีนชนิดนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอัลไซเมอร์


ในรายงานผลวิจัยยังสรุปด้วยว่า การแคะจมูกที่ทำให้เยื่อบุจมูกเสียหาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม เพราะแบคทีเรีย Chlamydia pneumoniae อาจเดินทางผ่านไปยังสมองได้ง่ายขึ้น ซึ่งลักษณะของสภาพการทดลองนั้นจำลองมาจากการที่จมูกของมนุษย์อาจติดเชื้อจากการแคะจมูก ซึ่งเชื้อสามารถแพร่กระจายและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ทั้งนี้ ในการทดลองกับหนู การติดเชื้อเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ถึง 72 ชั่วโมงเท่านั้น แต่งานวิจัยนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก โดยเฉพาะเส้นทางการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในมนุษย์ แต่นักวิจัยแนะนำว่า การแคะจมูกไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ เพราะอาจเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายในจมูก

 


ข้อมูล: https://www.sciencealert.com/mouse-study-suggests-surprising-link-between-alzheimers-and-nose-picking