กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ชี้ “ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี พร้อมแนะควรใส่หน้ากากอนามัยหากไปในสถานที่แออัดหรือเสี่ยงติดเชื้อ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) สามารถจำแนกออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี และดี โดยชนิดเอและบี มักก่อให้เกิดไข้หวัดตามฤดูกาล ผู้ป่วยอาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดทั่วไป (Common cold) ส่วนใหญ่สามารถหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมทโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า ไข้หวัดใหญ่มักแสดงอาการที่อาจทำให้สับสนกับไข้หวัดทั่วไป โดยอาการแสดงเด่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ไอแห้ง มีน้ำมูกใส คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้สูง และอ่อนเพลีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ทั้งนี้วิธีการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการในเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาให้ยาฆ่าไวรัส ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ทำไห้ลดระยะเวลาอาการเจ็บป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งความจำเป็นในการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
ผศ.(พิเศษ) นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปอดอักเสบ การอักเสบของกล้ามเนื้อและเยื่อบุหัวใจ หรือภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น เนื้อสมองอักเสบหรือภาวะชัก โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ควรพิจารณารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 12 ปี
3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4.ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
6.ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ทั้งนี้ การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้โดย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปาก เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ตามช่องทางเหล่านี้ นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี และที่สำคัญควรใส่หน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แออัดหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี
4 กุมภาพันธ์ 2568