สายตายาว ก่อนวัย เกิดจากอะไร ?

เมื่ออายุมากขึ้นหลายคนเริ่มมีปัญหา สายตายาว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มองเห็นชัดมาโดยตลอด จากเดิมที่สามารถทำกิจกรรมในที่ใกล้ได้โดยไม่ต้องมีแว่น กลับต้องใส่แว่นเพื่อช่วยให้เห็นชัดได้เหมือนเดิม แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสายตายาวที่เกิดขึ้นเป็นภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการเร็วกว่าปกติหรือไม่
สายตายาวคืออะไร
1.สายตายาว (Hyperopia) คือ ภาวะผิดปกติทางสายตาที่พบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยจะไม่สามารถมองได้ชัดทั้งที่ไกลและที่ใกล้
2.สายตาผู้สูงวัย (Presbyopia) คือ ภาวะผิดปกติทางสายตาที่พบในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี เป็นต้นไป ในกลุ่มนี้จะสามารถมองที่ไกลได้ชัดเจน แต่จะเริ่มมองที่ใกล้ได้ไม่ชัด
สาเหตุและอาการของ สายตายาว
ปกติเด็กทุกคนมีสายตายาว (Hyperopia) โดยธรรมชาติ เนื่องจากลูกตายังมีขนาดเล็ก แต่เมื่อโตขึ้นสายตายาวนั้นจะค่อย ๆ ลดลงและหายไป อย่างไรก็ตามในบางคนที่มีความผิดปกติของสัดส่วนการเจริญเติบโตของดวงตา อาจทำให้มีภาวะสายตายาวมาจนโตได้ แต่ภาวะสายตายาวในผู้ใหญ่เมื่ออายุใกล้ 40 ปี หรือภาวะสายตาผู้สูงวัยเกิดขึ้นจากการที่เลนส์ตาแข็งขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้สูญเสียความสามารถในการปรับระยะของเลนส์ เพื่อช่วยในการโฟกัสภาพด้วยการปรับตัวให้ป่องขึ้นหรือแบนลงที่เดิมเคยทำได้ เราจึงมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ไม่ชัดเหมือนเดิม
4 พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สายตายาวก่อนวัยจริงหรือ (ในที่นี้หมายถึงภาวะสายตายาวในผู้สูงวัย)
แม้สายตายาวจะเป็นหนึ่งในความผิดปกติทางสายตาที่พบได้ทั่วไปตามอายุ แต่ในบางคนกลับมีสายตายาวก่อนวัย มีความเชื่อกันว่าการทำพฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายตายาวก่อนวัยได้ ความเชื่อเหล่านี้จริงหรือไม่
1.ความเชื่อที่ 1 ชอบเล่นมือถือในที่มืด
ความเชื่อนี้ไม่จริง การเล่นมือถือในที่มืดทำให้ปวดตา ไม่สบายตา ตาล้า ภาพเบลอ และส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการสายตายาวก่อนวัย
2.ความเชื่อที่ 2 ไม่ค่อยกระพริบตา
ความเชื่อนี้ไม่จริง ปกติคนเรากะพริบตา 10 ครั้ง/นาที แต่เมื่อเราเล่นมือถือ หรือดูอะไรที่กำลังสนใจนาน ๆ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ การกะพริบตาจะน้อยลง น้ำตาจึงระเหยออกไป เป็นสาเหตุให้ตาแห้ง เคืองตา ตาล้า ตามัว เห็นภาพเบลอ ปวดศีรษะ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายตายาวแต่อย่างใด
3.ความเชื่อที่ 3 ชอบเพ่งจ้องที่เดิมนาน ๆ
ความเชื่อนี้ไม่จริง การเพ่งหรือจ้องที่เดิมนาน ๆ คล้ายกับการจ้องในที่มืด นอกจากไม่ทำให้เกิดภาวะสายตายาวแล้วยังทำให้เกิดสายตาสั้นแบบชั่วคราวด้วย จึงเห็นภาพเบลอเวลาเงยหน้ามามองที่ไกล
4.ความเชื่อที่ 4 การใส่แว่น
ความเชื่อนี้ไม่จริง สายตายาวเป็นอาการที่เป็นไปตามวัย เมื่ออายุ 40 ปี ทุกคนจะมีสายตายาว ในบางรายอาจมีภาวะสายตายาวก่อนวัยได้เมื่ออายุ 35-37 ปี เนื่องจากตอนเด็กอาจมีสายตายาวปริมาณไม่มากค้างอยู่ตั้งแต่แรก หรือความสามารถในการปรับระยะโฟกัสของเลนส์อ่อนแอกว่าคนปกติ ส่งผลให้เมื่ออายุใกล้จะ 40 ปี จึงมีสายตายาวเร็วกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากการใส่แว่น


วิธีรักษาสายตายาว
การรักษาสายตายาวสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้


ใส่แว่น เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด หากสายตาปกติมาก่อน แล้วมีสายตายาวทีหลัง สามารถใส่แว่นสายตายาว เฉพาะเวลาต้องการอ่านหนังสือหรือดูระยะใกล้อย่างเดียวได้ แต่หากมีสายตาสั้น ยาว หรือเอียงมาก่อน และใส่แว่นเพื่อให้มองไกลได้อยู่แล้ว แต่แว่นเดิมเริ่มมองใกล้ไม่ได้ วิธีแก้ไข คือ ตัดแว่นมองใกล้เพิ่มอีกอัน ส่วนแว่นเดิมเอาไว้มองไกล ข้อเสียคืออาจต้องใส่ ๆ ถอด ๆ ปัจจุบันมีแว่นเลนส์โปรเกรสซีฟที่สามารถมองได้ชัดทุกระยะ โดยที่ไม่ต้องใช้แว่นหลายอัน ตัวเลนส์มีค่าสายตาไล่ระดับเพื่อให้ส่วนล่างมองใกล้ได้ ส่วนบนไว้มองไกล แต่ดูไร้รอยต่อเหมือนเป็นเลนส์ชิ้นเดียว หรืออีกทางเลือกคือทำแว่นเลนส์ 2 ชั้น (bifocal lens) คือ เลนส์บนโฟกัสที่ไกล และเลนส์ล่างโฟกัสที่ใกล้
ใส่คอนแทคเลนส์ ปัจจุบันมีคอนแทคเลนส์สำหรับแก้ทั้งค่าสายตามองไกลและมองใกล้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดเหมือนแว่นคือ แบบเลนส์ 2 ชั้น หรือแบบ progressive lens แต่ความยากคือการเลือกเลนส์ให้เหมาะสม ต้องใช้จักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการเลือกคอนแทคเลนส์ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ยิงเลเซอร์ การทำเลสิก คือการยิงเลเซอร์เพื่อทำให้ค่าสายตาทั้งสองข้างมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยให้ข้างนึงชัดที่ระยะไกล และให้อีกข้างนึงชัดที่ระยะใกล้ ทำให้ไม่ต้องใส่แว่น ข้อเสียคือ เมื่อสายตายาวเพิ่มขึ้นต้องเข้ารับการยิงเลเซอร์ปรับขนาดค่าสายตาใหม่


สายตายาวป้องกันได้หรือไม่
สายตายาวเป็นเรื่องของวัย เป็นไปตามอายุ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อสายตายาวควรใส่แว่น เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะ เห็นภาพเบลอ และทำงานลำบาก


รับมืออย่างไรเมื่อ สายตายาว
สายตายาวไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่ทุกคนต้องเจอเมื่ออายุมากขึ้น เพียงแค่ใส่แว่นขณะอ่านหนังสือ หรือเมื่อจำเป็นต้องมองระยะใกล้จะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามในช่วงแรกของการใส่แว่นอาจมีอาการปวดศีรษะได้ เนื่องจากร่างกายยังอยู่ในช่วงปรับตัว เมื่อคุ้นชินแล้วจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


 


ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.วฎาการ วุฒิศิริ
สาขาวิชากล้ามเนื้อตาและโรคตาในเด็ก ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a7-%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81/