สังเกต! 6 อาการสำคัญนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ชอบทานอาหารไขมันสูง หรือมีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในระบบน้ำดี หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตร่างกายหรืออาการของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้ถึงความผิดปกติของร่างกาย และนี่จึงเป็น 6 อาการสำคัญที่บอกว่านี่อาจเป็นสัญญาณของนิ่วในถุงน้ำดี และวิธีจัดการกับมัน!
สาเหตุและอาการสำคัญของ “นิ่วในถุงน้ำดี”
นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากความไม่สมดุลของคอเลสเตอรอล บิลิรูบิน และเกลือน้ำดีในถุงน้ำดี ร่วมกับการบีบตัวผิดปกติของถุงน้ำดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอาจเป็นได้ทั้ง พันธุกรรม ฮอร์โมนเอสโตรเจน ภาวะอ้วน และโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง


รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป หรือการอดอาหารแล้วรับประทานในครั้งเดียวด้วยปริมาณที่มากๆ สาเหตุเหล่านี้ล้วนสามารถก่อให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ทั้งสิ้น ซึ่งในผู้ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มักจะสังเกตอาการได้ดังนี้
1. ปวดท้องเฉียบพลันบริเวณชายโครงขวา : นี่คืออาการที่พบบ่อยที่สุดของนิ่วในถุงน้ำดี
ลักษณะการปวดมักเป็นแบบบีบหรือแน่นท้อง รู้สึกได้บริเวณชายโครงขวาหรือใต้ลิ้นปี่
อาการปวดมักเกิดขึ้นหลังมื้ออาหารที่มีไขมันสูง และอาจร้าวไปที่สะบักขวาหรือหลัง
หากปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที
2. คลื่นไส้ อาเจียน หลังมื้ออาหาร : เป็นผลจากการทำงานของถุงน้ำดีที่ผิดปกติ
มักเกิดร่วมกับอาการปวดท้อง โดยเฉพาะหลังมื้ออาหารหนักๆ
หากอาการนี้เกิดซ้ำๆ โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อาจเป็นสัญญาณของนิ่วในถุงน้ำดี
3. ตัวเหลือง ตาเหลือง : เป็นผลจากนิ่วที่หลุดไปอุดตันในท่อน้ำดี
เกิดจากสารบิลิรูบินที่ไม่สามารถถูกขับออกตามปกติได้
สังเกตได้ง่ายจากสีของผิวหนังและตาขาวที่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
4. ไข้สูง หนาวสั่น : เมื่อมีไข้ร่วมกับอาการปวดท้องและตัวเหลือง อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
ไข้สูงและหนาวสั่นมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
เป็นภาวะที่ต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้
5. อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม : หากระบบน้ำดีถูกอุดตันโดยนิ่ว อาจส่งผลให้สีของอุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนไป
อุจจาระจะมีสีซีดหรือสีขาวคล้ายดินเหนียว
ปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายชา เนื่องจากบิลิรูบินถูกขับออกทางปัสสาวะแทน
6. ท้องอืด แน่นท้องบ่อยครั้ง : แม้อาการนี้อาจดูไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยและสัมพันธ์กับมื้ออาหารไขมันสูง ก็ควรสังเกตให้ดี
ความรู้สึกแน่นท้องหรือท้องอืดเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของนิ่วในถุงน้ำดี


ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี?
หากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยใช้ อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและปลอดภัยที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการกินจนถึงการผ่าตัดถุงน้ำดีออก


แค่ควบคุมพฤติกรรม ก็เลี่ยงจากนิ่วในถุงน้ำดีได้แล้ว!
การลดความเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมของเรา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ โดยปฏิบัติตามดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงการอดอาหารนานๆ หรือการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว


นิ่วในถุงน้ำดีอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หากคุณพบอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่าลังเลที่จะพบแพทย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต



ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ