
เส้นเลือดสมองแตก อีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยซึ่งอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ความพิการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ในบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงอาการ สาเหตุ และวิธีป้องกันภาวะเส้นเลือดสมองแตก เพื่อให้คุณสามารถดูแลตัวเองและคนที่คุณรักได้อย่างถูกต้อง
เส้นเลือดสมองแตก สาเหตุเกิดจากอะไร?
เส้นเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) คือภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตกหรือรั่ว ทำให้เลือดไหลซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองบริเวณนั้นขาดเลือดและออกซิเจน โดยเส้นเลือดในสมองแตกเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักมักเกิดจากความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งความเสื่อมนี้นอกจากจะทำให้หลอดเลือดแตกได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการตีบหรืออุดตันได้เช่นกัน ซึ่งเป็นอาการที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และหากสมองขาดออกซิเจนเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เซลล์สมองตาย จนส่งผลให้กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตในที่สุด
รู้ทัน! สัญญาณเตือนเส้นเลือดสมองแตก BEFAST
อาการเส้นเลือดในสมองแตกมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมีอาการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่แตก ขนาดของหลอดเลือด หรือปริมาณเลือดที่ออก โดยมี BEFAST หรือสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองเป็นหลักปฏิบัติเพื่อรับมือกับอาการฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้
1. สูญเสียการทรงตัว (B-Balance) มีอาการบ้านหมุน หน้ามืด จนกระทั่งส่งผลให้สูญเสียการทรงตัว
2. ตาพร่ามัว เกิดปัญหาในการมองเห็น (E-Eyes) มีอาการมองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นภาพเพียงครึ่งเดียว
3. ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว (F-Face) มีอาการมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตก ทำให้พูดไม่ชัด ยิ้มได้ไม่เต็มที่
4. แขนขาอ่อนแรง (A-Arms) ไม่สามารถยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้นได้ หรือแขนขาอ่อนแรงจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้
5. พูดติดขัด (S-Speech) ออกเสียงลำบาก หรือออกเสียงคำพูดไม่ได้
6. อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (T-Time) เมื่อเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนกะทันหันจะทำให้ระบบประสาทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างเฉียบพลัน ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายถาวร
เช็ก! อาการเสี่ยงอื่นๆของโรคหลอดเลือดสมอง
1. อาการชาตามร่างกาย นอกจากอาการชาตามใบหน้า ก็อาจมีอาการชาในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยอาจเกิดความรู้สึกคันๆ หน่วงๆ คล้ายไฟช็อต
2. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน และมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว
3. กลืนลำบาก โดยมีอาการกลืนอาหาร หรือน้ำลำบาก ไอหรือสำลักบ่อยๆ
4. เกิดอาการสับสนมึนงง ผลกระทบของโรคอาจส่งผลต่อสมองบริเวณที่เกี่ยวกับความคิด หรือการตัดสินใจของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าได้
ปัจจัยเสี่ยง! ต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เส้นเลือดสมองแตกมักเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง เพราะเมื่อความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดในสมองอ่อนแอหรือเสื่อมลง จนทำให้แตกได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้เช่นกัน
* โรคเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดในสมอง จนนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก
* ไขมันในเลือดสูง เกิดจากการสะสมไขมันที่มากเกินไปในผนังหลอดเลือด จนส่งผลให้หลอดเลือดตีบแคบ ซึ่งถือเป็นภาวะเสี่ยงต่อการแตกของหลอดเลือดในสมอง
* การสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบแคบได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมอง
* ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองแตก
* ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี
* ภาวะอ้วน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
* กรรมพันธุ์ คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก
วิธีป้องกันเส้นเลือดสมองแตก
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันเส้นเลือดสมองแตก ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
* ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความดันโลหิตสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
* ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น เลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือมีปริมาณมากเกินไปจนเสี่ยงภาวะน้ำตาลสูง และเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง
* ควบคุมระดับไขมันในเลือด ให้ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป โดยการควบคุมอาหาร จำกัดปริมาณหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ นอกจากนี้ ควรเพิ่มโอเมก้า 3 (Omega3) ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพหลอดเลือด
* เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ และลดอาหารเค็ม อาหารหวาน อาหารมัน นอกจากนี้ ควรเพิ่มผัก ผลไม้ ธัญพืช ในปริมาณที่เหมาะสมต่อมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์ (Fiber) หรือกากใยอาหารอย่างเพียงพอ
* งดสูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ รวมถึงเส้นเลือดสมองแตก
* หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันเลือดสูงที่อาจนำไปสู่การเกิดอาการหลอดเลือดในสมองแตกได้
* ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายวันละ 20 - 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
* ควบคุมน้ำหนัก โดยเน้นให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปจนส่งผลเสียต่อร่างกาย
* ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเส้นเลือดในสมอง
เส้นเลือดสมองแตก หนึ่งในภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน การรู้เท่าทันอาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ อย่าลืมใส่ใจสุขภาพของตัวคุณเองและคนที่คุณรัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือตัวแปรสำคัญในการก่อโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ไร้โรคภัยที่จ้องบั่นทอนสุขภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต
https://www.vimut.com/article/Hemorrhagic-Stroke