
มะเร็งช่องปากเป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตรายถึงชีวิต และมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสำหรับคนบางกลุ่ม เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
สามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ ดังนั้นการสังเกตตัวเองและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด
มะเร็งช่องปาก คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในช่องปากหลายๆ อวัยวะ เช่น ริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก และพื้นปากใต้ลิ้น ถือเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและอันตรายหากมาตรวจพบในระยะลุกลาม


อาการของผู้ที่เป็น มะเร็งช่องปาก
• มีอาการบวมโต โดยอาการบวมโตจะเกิดขึ้นในลักษณะของการเป็นก้อนเนื้อ หรือแผลบริเวณอวัยวะส่วนต่างๆในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือบริเวณอื่นๆ
• มีรอยโรคสีขาว โดยรอยโรคสีขาวจะพบได้ภายในอวัยวะต่างๆในช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ซึ่งอาจจะมีได้ทั้งรอยโรคสีขาว รอยสีแดง หรือรอยสีขาวปนแดงในช่องปาก
• มีเลือดออกภายในปากแบบไม่ทราบสาเหตุ อาการนี้จะมีเลือดไหลออกมาภายในช่องปากโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยผู้ป่วยไม่สามารถรู้เลยว่าเลือดไหลออกมาจากที่ไหน
• มีอาการเจ็บและชาบนใบหน้า ส่วนใหญ่คนที่เป็นมะเร็งช่องปากมักจะมีอาการชา มีอาการเจ็บปวดแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยจะเจ็บปวดที่บริเวณลำคอ ปาก และบริเวณใบหน้า
• เกิดเป็นแผลในช่องปาก โดยแผลที่เกิดขึ้นในช่องปากจะคล้ายกับการเป็นแผลร้อนใน แต่จะไม่สามารถในเร็ววัน ซึ่งบาดแผลก็จะไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรืออาจจะแย่ลงไปกว่าเดิมเรื่อยๆ
• มีการติดขัดบริเวณช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นการเคี้ยวอาหาร การพูด การอ้าปาก หรือแม้กระทั่งการกลืนอาหาร จะเริ่มทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากเชื้อมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังส่วนต่างๆในช่องปาก
• น้ำหนักลด คนที่เป็นมะเร็งช่องปาก น้ำหนักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถ้าหากว่ามะเร็งเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 1 หรือ 2 น้ำหนักก็ยิ่งจะลดลงไปเรื่อยๆตามลำดับ จนทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนที่มีร่างกายซูบผอม ไม่แข็งแรงในที่สุด
วิธีป้องกันจากมะเร็งช่องปาก
1. งดหรือเลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นต้นตอของการเกิดมะเร็งในช่องปาก ทำให้คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในช่องปากมากกว่าคนทั่วไป
2. งดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะการเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะช่วยลดการเกิดการโรคมะเร็งในช่องปากได้มากถึง 15 เท่า
3. งดหรือเลิกเคี้ยวหมากพลู ยาเส้น ยาฉุน เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้มีสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ จึงควรเลิกเคี้ยวสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้หายขาด
4. รับประทานอาหารให้ถูกหลัก ควรจะรับประทานผักและผลไม้ เพื่อเสริมสร้างวิตามินให้กับร่างกาย และไม่ควรทานอาหารที่มีผลทำให้เกิดบาดแผลในปากหรือทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก
5. เฝ้าระวังโรคมะเร็งในช่องปาก สามารถทำได้ด้วยการตรวจเนื้อเยื่อในช่องปากด้วยตัวเองโดยให้ใช้ไฟส่องสว่าง ส่องหาบาดแผล หรือดูเนื้อเยื่อภายในช่องปากว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
6. เข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพราะทันตแพทย์มีเครื่องมือที่จะตรวจสอบ ตรวจหารอยโรคต่างๆที่มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์อยู่เป็นประจำ เพื่อให้ทันตแพทย์ได้ทำการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งในช่องปาก