"ไวรัสโควิด-19" โรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ณ วันนี้" โอไมครอน" เป็นการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ของไวรัสตัวนี้ รวมทั้งยังมีสายพันธุ์ย่อยอีก เช่น BA1, BA2 ทำให้เราต้องมีเครื่องมือที่รองรับ คือ วัคซีนและยา อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เรามีวัคซีนมากพอที่จะป้องกันการป่วยหนักและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งมียาใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกหนึ่งทางเลือกนั่นก็คือ "Molnupiravir" (โมลนูพิราเวียร์) เป็นต้น
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ได้ประกาศเกณฑ์จำแนกผู้ป่วยโควิด-19 โดยแบ่งตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี สามารถรักษาตัวเองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสและแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรตามความเหมาะสม กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และมีภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 และแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ โดยให้เริ่มยาเร็วที่สุด กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาตัวเองที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งแนวทางการรักษาใหม่ล่าสุด แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด จากยา 4 ชนิด ดังต่อไปนี้ 1) เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (nirmatrelvir/ritonavir) 2) โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) 3) เรมเดซิเวียร์ และ 4) ฟาวิพิราเวียร์ โดยพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ และ กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ หรือมีภาวะออกซิเจนลดลงต่ำกว่า 94% สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาฉีด ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีอาการไม่หนักมาก หรือมีค่าออกซิเจนอยู่ในช่วง 94 – 96% แพทย์อาจพิจารณาให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้เช่นกัน
นพ.วีรวัฒน์อธิบายถึงภาพรวมของกลุ่มยารักษาโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับการรักษา ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือ monoclonal antibody ยากลุ่มนี้จะทำงานโดยการจับกับโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะและเข้าสู่เซลล์ในร่างกายหรือออกฤทธิ์โดยการจับเพื่อทำลายไวรัส ซึ่งเป็นยาฉีดทั้งหมด เช่น โซโทรวิแมบ (sotrovimab) กลุ่มที่ 2 ยาต้านไวรัส ซึ่งทำงานโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส สำหรับยาต้านไวรัสที่ประเทศไทยมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์และเรมเดซิเวียร์ รวมทั้งอีก 2 ตัว ที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ โมลนูพิราเวียร์แลเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งตัวที่คาดว่าน่าจะเข้ามาให้ได้ใช้ก่อน คือ โมลนูพิราเวียร์ และกลุ่มที่ 3 ยาลดการอักเสบ ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอด ตัวอย่างเช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone)
จากแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดว่า ได้มีการเพิ่มทางเลือกเพื่อให้แพทย์สามารถบริหารยาได้ง่ายขึ้น โดยยาชนิดใหม่ที่ได้รับการแนะนำในแนวทางการรักษาฉบับนี้ และกำลังจะนำเข้ามาในประเทศไทย คือ “โมลนูพิราเวียร์”
"สำหรับ molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) เป็นยาตรงจุดที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ชัดเจน โดยลดอัตราการเสียชีวิตถึง 89% รวมทั้งลดการอยู่โรงพยาบาลได้อีกด้วย และในกรณีผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคร่วมยานี้แทบจะไม่ตีกันกับยาตัวอื่น มีความปลอดภัยสูง และผลข้างเคียงน้อยมาก คือ อาจจะมีอาการคลื่นไส้ประมาณ 1%" นพ.วีรวัฒน์ กล่าว
ด้าน ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้ยาในการรักษาโควิด-19 ว่า ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะใช้ favipiravir ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ แต่เพิ่มโดสเพื่อรักษาโควิด-19 แต่ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ในเดือนมีนาคมจะมียา "molnupiravir " (โมลนูพิราเวียร์) ล็อตแรกเข้ามาประมาณ 2 ล้านเม็ด หรือ 5 หมื่นคน โดยแนวทางการกระจายยา "molnupiravir" นั้นน่าจะเหมือนกับยา favipiravir โดยกระจายไปตามเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองที่เราทำกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น