ผลการศึกษาครั้งแรกเกี่ยวกับผลจากการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจของทีมนักวิจัยจากเกาหลีใต้ พบว่า วัคซีนไม่เพียงป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอายุยืนยาวขึ้นอีกด้วย
ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ Heart Failure 2024 ของ European Society of Cardiology (ESC) ระหว่างวันที่ 11-14 พฤษภาคม ค.ศ.2024 ในเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส Dr. Kyeong-Hyeon Chun ผู้เขียนรายงานการวิจัยผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 651,127 ราย ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ในฐานข้อมูลบริการประกันสุขภาพแห่งชาติของเกาหลีใต้ สรุปว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 2 ครั้ง มีอายุยืนยาวขึ้นถึง 82% ความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวลดลง 47% และความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง 13% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ในการศึกษานี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้อย่างมีนัยสำคัญ
Dr. Kyeong-Hyeon Chun เชื่อว่านี่เป็นการวิเคราะห์ครั้งแรกของประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวจำนวนมาก และเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนจากการฉีดวัคซีน การศึกษานี้ให้หลักฐานที่ชัดเจนในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว แต่ไม่อาจครอบคลุมได้ทุกราย เพราะต้องพิจารณาความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่มีอาการไม่แน่นอน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวทั่วโลกมากกว่า 64 ล้านคน และก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 12 ล้านล้านบาท (346,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 127% ภายในปี ค.ศ.2030 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป วงการแพทย์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยกระดับความสําคัญในการแก้ปัญหาโรคหัวใจล้มเหลวเพราะถือเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก