อาจารย์แพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารของเมืองบอสตันเผยผลการศึกษาผลของยาแอสไพรินต่อการลดอัตราความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ครั้งล่าสุด ยืนยันว่า การรับประทานแอสไพรินในปริมาณต่ำทุกวันช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นายแพทย์ Daniel Sikavi จากโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital (MGH) ในเมืองบอสตัน เขียนรายงานผลการศึกษาข้อมูลจากอาสาสมัครเกือบ 108,000 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 49 ปี แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานยาแอสไพรินปริมาณต่ำเป็นประจำกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ เพื่อเปรียบเทียบอัตราความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดระยะเวลา 10 ปี ในการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล
รายงานนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Oncology เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.2024 ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 2.12% ของผู้ใช้แอสไพรินเป็นประจำเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะที่ 3.4% ของผู้ไม่ได้รับยาแอสไพรินเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ อัตรามะเร็งลำไส้ใหญ่ของผู้ที่รับประทานแอสไพรินอยู่ที่ประมาณ 1.5% และผู้ไม่ได้รับประทานแอสไพรินอยู่ที่ 1.62% และหากเจาะลงไปยังกลุ่มที่ใช้ชีวิตซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ บริโภคอาหารไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย และมีน้ำหนักตัวมากกว่าระดับมาตรฐาน ความแตกต่างนี้จะยิ่งเด่นชัด
นักวิจัยพบว่า แอสไพรินป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เนื่องจากช่วยลดการผลิตสารโปรตีนชื่อ Prostaglandins ที่กระตุ้นพัฒนาการของเนื้องอกได้ แต่งานวิจัยนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดผลข้างเคียงจากการรับประทานแอสไพรินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตกเลือดในกระเพาะอาหารจากแอสไพริน ซึ่งทีมวิจัยยังต้องศึกษาผลของการใช้ยาแอสไพรินนี้ต่อไปอีกในระยะยาว
ภาพประกอบและข้อมูล : https://www.bostonglobe.com/2024/08/01/metro/colon-cancer-aspirin-harvard-mass-general/