ผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามมักจะเผชิญกับสถิติที่น่ากลัว โดยมีผู้รอดชีวิตระยะ 5 ปี หลังได้รับการวินิจฉัยโรคจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งใหม่ที่เรียกว่า “การรักษาเพื่อคงสภาพ” ด้วยยามะเร็งมุ่งเป้าอาจยืดอายุให้กับผู้ป่วยบางคนได้
การศึกษาได้แสดงว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับยีน BRCA มีโอกาสเพิ่มขึ้นมากที่จะรอดชีวิตโดยไม่ปรากฏสัญญาณของโรคมะเร็งกลับมาใน 5 ปี ถ้าได้รับยา Lynparza (olaparib) ซึ่งเป็นการบำบัดมะเร็งแบบมุ่งเป้าที่เรียกว่า PARP inhibitor
ยากลุ่มนี้จะยับยั้งเอนไซน์ PARP ซึ่งเซลล์มะเร็งต้องการเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสารพันธุกรรมและการยับยั้งนี้ทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ มียา PARP inhibitor อีก 2 ชนิด ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้รักษาโรคมะเร็งรังไข่ คือ ยา Zejula (niraparib) และยา Rubraca (rucaparib)
ยา PARP inhibitor ให้ประสิทธิผลโดยเฉพาะกับมะเร็งที่เชื่อมโยงกับยีน BRCA ซึ่งมักคิดกันว่าเป็นยีนของโรคมะเร็งเต้านม โดยที่ยีน BRCA1 กับ BRCA2 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่ประมาณร้อยละ 25
การศึกษาครั้งใหม่ให้ข้อมูลการติดตามผลเป็นเวลา 5 ปี จากการทดลองทางคลินิกกับผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามและมี BRCA เป็นบวก โดยได้รับยา Lynparza เป็นเวลา 2 ปี หลังจากการรักษาระยะเริ่มแรกเสร็จสิ้นลง
ผู้ป่วยได้รับผลดีจากการรอดชีวิตเป็นเวลานาน 5 ปี ไม่ว่ามะเร็งจะอยู่ในระยะลุกลามก็ตาม ผู้เขียนรายงานการศึกษา Dr. William Bradley ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งนรีเวชวิทยา ที่ Froedtert Health and Medical College of Wisconsin ในเมืองมิลวอคกี้ มลรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา กล่าว
“การรักษาเพื่อคงสภาพ (maintenance therapy) ด้วยยา Lynparza ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นมาตรฐานของการรักษาพยาบาลสำหรับโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามที่มี BRCA เป็นบวก” Dr. Bradley กล่าว
การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมผู้หญิง 391 คน ที่มีการกลายพันธุ์ของ BRCA และเป็นโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม ซึ่งได้รับเคมีบำบัดเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วย 260 คน ได้รับยา Lynparza และ 131 คน ได้รับยาหลอก พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยา Lynparza ในจำนวนมากกว่า 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอก ยังมีชีวิตอยู่โดยไม่มีการลุกลามของมะเร็งเป็นเวลา 5 ปี หลังจากตอนเริ่มต้นการศึกษา
การศึกษานี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก AstraZeneca ผู้ผลิตยา Lynparza
“ถือว่าเป็นข่าวที่ดีมาก” Dr.Bradley กล่าวและว่า “ผู้ป่วยหญิงหลายคนได้รับผลดีจากยาตลอด 3 ปีต่อมา เมื่อพ้นจากช่วงการบำบัดแล้ว”
Dr. Konstantin Zakashansky ผู้อำนวยการสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา แห่ง Mount Sinai West กล่าวถึงผลลัพธ์ครั้งใหม่นี้ว่า “น่าทึ่งมาก” และบอกว่า การค้นพบครั้งใหม่อาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้หญิงกลุ่มนี้ได้
“แม้หลังจาก 5 ปีแล้ว ประโยชน์ที่เป็นนัยสำคัญยังมีอยู่” Dr. Zakashansky ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าว “เราไม่เคยพบอะไรอย่างนี้มาก่อนสำหรับโรคมะเร็งรังไข่”
ยา PARP inhibitors มีส่วนของผลข้างเคียง ได้แก่ ความเสี่ยงต่อความผิดปกติของเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหญิงมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะติดเชื้อหรือเหนื่อยได้ แต่ข้อมูลจากการติดตามผลแสดงว่า ผลข้างเคียงไม่ได้รุนแรงมากขึ้นไปตามเวลา Dr. Bradley กล่าว
การค้นพบครั้งใหม่แสดงว่า การรักษาเพื่อคงสภาพด้วยยา Lynparza มีผลกระทบในระยะยาวสำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกามที่มี BRCA เป็นบวก และเวลาจะให้คำตอบสำหรับคำถามทั้งหมดที่เหลืออยู่ Dr. Deborah Armstrong ศาสตราจารย์สาขามะเร็งวิทยาที่ Kimmel Cancer Center แห่ง Johns Hopkins ในบัลติมอร์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งใหม่กล่าว
“เป็นไปได้หรือไม่ที่การบำบัดรักษาเป็นเวลา 2 ปี ด้วยยานี้จะยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามหรือเพียงแค่ทำให้เซลล์มะเร็งแค่สงบลงและไม่กลับมาอีกในวันหลัง” Dr.Armstrong ตั้งคำถาม
อีกประเด็น คือ ยาใหม่อาจจะมีราคาที่แตะได้ยากสำหรับผู้ป่วยหญิงบางคน เธอกล่าว
“ยามีราคาแพงมาก ๆ ตั้งแต่ $10,000 ถึง $12,000 ต่อเดือน และแม้แต่ผู้ป่วยที่มีประกันภัยที่ดีจริง ๆ ยังต้องร่วมจ่ายในราคาที่สูง”
มีการนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวในการประชุมประจำปีแบบเสมือนจริงของ Society of Gynecologic Oncology ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังถือว่าเป็นรายงานเบื้องต้นจนกว่าจะเผยแพร่ในวารสารที่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว
Lynparzaเพิ่มการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม
HealthDay News