ยามะเร็งอาจช่วยรักษาอัลไซเมอร์ได้

Agencies

งานวิจัยครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า ยาที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลในการต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อเนื่องมาร่วม 30 ปี อาจช่วยพัฒนาความจำและความสามารถในการคิดให้ดีขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์เล็กน้อยถึงปานกลาง
     มีการใช้ยา sargramostim (ชื่อการค้า Leukine) มานานหลังจากการรักษาโรคมะเร็งเพื่อหลอกไขกระดูกให้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรค  เป็นยาที่ใช้โปรตีน GM-CSF ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อโรคอัลไซเมอร์อย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis: RA) โดยที่ผู้ป่วย RA จะมีระดับ GM-CSF ในเลือดสูงกว่าปกติ
    จากการทำงานกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 40 คน เวลานี้คณะผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า การให้ยา sargramostim เป็นเวลา 3 สัปดาห์ สามารถฟื้นคืนความเสียหายของสมองที่สัมพันธ์กับโรคนี้ได้ และช่วยพัฒนาความจำและความสามารถในการคิดของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด
    “การค้นพบในเรื่องความปลอดภัยและ (ประสิทธิผล) ของ GM-CSF ในโรคอัลไซเมอร์นี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นวิธีรักษาที่ค้นพบใหม่  ซึ่งจะมีการพิสูจน์เมื่อได้ดำเนินการทดลองขนาดใหญ่และใช้เวลานานมากขึ้น เพื่อแสดงว่าประโยชน์ที่เราได้พบนั้นให้ผลที่ดีขึ้นและได้ผลเป็นเวลานาน” Huntington Potter ผู้นำการเขียนรายงานซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Alzheimer's and Cognition Center แห่ง Univesity of Colorado ใน Aurora กล่าว
    การค้นพบใหม่นี้เกิดขึ้นตามมาติด ๆ กับอีกการค้นพบหนึ่งที่มีศักยภาพในการรักษาอัลไซเมอร์ในรูปของยาทดลองจากห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า donanemab
    จากรายงานใน  New England Journal of Medicine การฉีดยา donanemab เดือนละครั้ง เป็นเวลา 18 เดือน ได้ผลในการกำจัดการสะสมของ amyloid-beta plaques ในสมองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เข้าร่วมการศึกษาประมาณร้อยละ 70
    ในการศึกษาครั้งใหม่ ผู้ป่วย 20 คน ได้รับยา sargramostim สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยอีก 20 คน ได้รับการฉีดยาหลอก การทดลองเป็นแบบปิด 2 ด้าน ทั้งผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่ทราบว่าใช้ยาใด
    เมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มได้รับยา sargramostim มีคะแนนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 คะแนน จากการทดสอบทักษะในการคิดมาตรฐานรวม 30 คะแนน
    นอกจากนั้น ยังมีการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรค และความเสียหายของระบบประสาทที่มีอยู่ รวมทั้งระดับ amyloid plaque และ tangles ในสมองที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ ทั้งหมดได้ฟื้นคืน ซึ่งนักวิจัยเรียกว่าเป็นกระบวนการ “กลับสู่ภาวะปกติบางส่วน” (partial normalization" process)
    การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ประโยชน์ที่ได้รับจาก GM-CSF คงอยู่นานถึง 45 วัน หลังการรักษาจบลง  Potter กล่าว และยังพบว่ายามีความปลอดภัยและผู้ป่วยยอมรับยาได้ดี
    คณะผู้วิจัยได้รับความเห็นชอบจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) และได้รับทุนสนับสนุนจาก U.S. National Institutes of Health and the Alzheimer's Association เพื่อดำเนินการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกับ GM-CSF เพื่อพิสูจน์การค้นพบครั้งนี้
    Heather Snyder รองประธานสายความสัมพันธ์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ของ Alzheimer's Association กล่าวว่า การวิจัยการใช้ยารักษาการอักเสบในการรักษาโรคความจำเสื่อมเป็นเรื่องที่ "น่าสนใจมาก"
    ในขณะเดียวกัน Snyder ได้เตือนว่า งานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นเบื้องต้นและจะต้องดำเนินงานวิจัยต่อไปในประชากรที่ใหญ่ขึ้นและหลากหลายมากขึ้น
    “อัลไซเมอร์มีความซับซ้อนและการรักษาที่ประสบความสำเร็จน่าจะต้องจัดการกับโรคด้วยหลาย ๆ วิธีทั้งการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เหมือนการบำบัดแบบผสมผสานทำนองเดียวกับโรคหัวใจและโรคมะเร็ง” เธอกล่าวและว่า “เราต้องเร่งดำเนินการรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยหลาย ๆ วิธี จากความคิดในการใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด
    Snyder กล่าวว่า สมาคมได้สนับสนุนทุนและร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเพื่อทำให้การรักษาดังกล่าวเกิดขึ้นได้
    คณะทำงานของ Potter ได้เผยแพร่รายงานในวารสาร Alzheimer's & Dementia: Translational Research & Clinical Interventions ฉบับออนไลน์