สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
การออกกำลังกายอาจเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง งานวิจัยครั้งใหม่จากไต้หวันรายงาน นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวมาก ๆ จะมีความเสี่ยงที่น้อยลงต่อการลุกลามของโรคไต โรคหัวใจและการเสียชีวิต
การศึกษาได้ติดตามผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 4,500 คน ระหว่างปี 2004 และ 2017 ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการฟอกเลือด (ฟอกไต) โดยได้แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ออกกำลังกายมาก ออกกำลังกายน้อย และไม่ได้ออกกำลังกายเลย
ระหว่างการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ยเกือบ 700 วัน มีผู้ป่วย 739 คน เสียชีวิต ผู้ป่วย 1,059 คน เป็นโรคไตวาย และ 521 คน เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือด (หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง การเข้าโรงพยาบาลเพราะหัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ)
ผลการค้นพบแสดงว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการออกกำลังกาย กลุ่มที่ออกกำลังกายมากมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าถึงร้อยละ 38 มีความเสี่ยงต่อโรคไตวายน้อยกว่าที่ร้อยละ 17 และความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าที่ร้อยละ 37
ความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้ออกกำลังกายกับกลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยไม่พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ ตามรายงานที่เผยแพร่ใน European Journal of Preventive Cardiology
“ผลการศึกษาแสดงว่า ควรให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาทางคลินิกของผู้ป่วยโรคไต” Der-Cherng Tarng จาก Taipei Veterans General Hospital and National Yang-Ming University ประเทศไต้หวัน กล่าว
คณะผู้วิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่มีการอออกกำลังกายมากจำเป็นต้องรักษาระดับการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายมากในตอนเริ่มต้นการศึกษา แต่กลับออกกำลังกายน้อยลงเมื่อผ่านไป 6 เดือน มีความเสี่ยงเป็น 2 เท่าต่อการเสียชีวิตและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังคงออกกำลังมาก Dr. Wei-Cheng Tseng จาก Taipei Veterans General Hospital and National Yang-Ming University เช่นกัน กล่าว
“การศึกษานี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอในผู้ป่วยโรคไต” Dr.Tseng กล่าวในข่าวที่เผยแพร่ แต่ “การออกกำลังกายมากแบบสุด ๆ เกินจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ (heart rhythm disorders: arrhythmias) ในผู้ป่วยโรคไตได้
โรคไตเรื้อรังมีผลกระทบต่อประชากร 700 ล้านคนทั่วโลก โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เมื่อโรคไตรุนแรงขึ้นจนเกิดไตวาย ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่ต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าประชากรทั่วไป 10 ถึง 20 เท่า