สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
รายงานการศึกษาครั้งใหม่พบว่า ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาจากอาการโรคตาแห้งมีคุณภาพชีวิตแย่ลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการ ผลการค้นพบแสดงว่า ผู้ป่วยตาแห้งได้รับผลกระทบในทางลบต่อการมองเห็น ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และผลิตภาพในการทำงาน
โรคตาแห้งเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปและมักจะเป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยไปใช้บริการรักษาพยาบาล โรคนี้มีผลกระทบต่อประชากรทุกระดับอายุ แต่ส่วนมากจะเกิดกับผู้หญิงและผู้สูงวัย อาการมีทั้งการเคืองตาและตาแดง การมองเห็นไม่ชัด และรู้สึกว่ามีเม็ดเล็ก ๆ หรือสิ่งแปลกปลอมในดวงตา ในการรักษาแพทย์มักจะสั่งน้ำตาเทียม หรือฟิล์มน้ำตา (ocular lubricants)
มีรายงานว่าผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 3 มีอาการดังกล่าว แม้จำนวนที่แท้จริงอาจจะมากกว่า เพราะไม่มีการทดสอบเพื่อวินิจฉัยอย่างจริงจัง และผู้ที่มีอาการเล็กน้อยมักไม่ค่อยจะแจ้งให้แพทย์ทราบ
การศึกษาครั้งใหม่ที่นำโดย University of Southampton ได้ดำเนินการสำรวจว่า โรคตาแห้งมีผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักร ด้วยการสำรวจทางออนไลน์กับผู้ป่วย 1 พันคน ที่มีอาการ และอีก 1 พันคน ที่ไม่มีอาการ ผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามจาก National Eye Institute เกี่ยวกับการมองเห็นและแบบสอบถาม EuroQol ว่าด้วยคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ผู้ที่บอกว่าตนเองเป็นโรคตาแห้งจะตอบคำถามต่อไปเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ
ผลการศึกษาซึ่งมีการเผยแพร่ในวารสาร BMJ Open แสดงว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เป็นโรคตาแห้งในอัตราส่วนที่มากขึ้นมีปัญหากับความสามารถในการเคลื่อนไหวและประสบความยากลำบากในทำกิจวัตรประจำวันมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ การสำรวจยังเผยให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคตาแห้งยังมีความทนทุกข์จากความกังวลใจและโรคซึมเศร้าด้วย
ผู้ที่มีอาการรุนแรงมากที่สุดมักจะเกิดผลกระทบในทางลบต่อการใช้ชีวิตทางสังคมและอารมณ์ รวมทั้งผลิตภาพในการทำงาน รวมทั้งสูญเสียเวลามากขึ้นจากการทำงานเนื่องจากอาการดังกล่าว
Dr. Parwez Hossain รองศาสตราจารย์สาขาจักษุวิทยา ที่ University of Southampton ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษา กล่าวว่า “การศึกษานี้ให้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์มากเกี่ยวกับภาวะที่โรคตาแห้งมีผลต่อผู้ป่วย รวมทั้งยืนยันว่าผลกระทบต่องานและการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งเรายังค้นพบขนาดของผลกระทบสอดคล้องกับความรุนแรงของอาการ
เรายังพบว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอาการโรคตาแห้งยังมีโอกาสที่จะประสบปัญหาโรคร่วมอื่น ๆ ได้มากกว่า เช่น มีโอกาสเป็น 2 เท่า ที่จะมีปัญหาข้อต่ออักเสบ สูญเสียการได้ยินหรือโรคลำไส้แปรปรวน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีอาการ
“แม้เราจะไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลจากการศึกษาครั้งนี้ แต่การเป็นโรคตาแห้งมีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับการมองเห็น”
แม้ว่าทั้ง 2 กลุ่ม จะรายงานถึงการใช้จอภาพดิจิทัลและการอ่านหนังสือในระดับที่เหมือน ๆ กัน แต่กลุ่มที่มีอาการบอกว่าได้เผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมมากกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ ความร้อน หรือมลภาวะ คณะทำงานวิจัยเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้มีส่วนส่งผลให้เกิดโรคตาแห้ง