“ปลาหมึกกับสุขภาพ”

29 ส.ค. 2565 14:29:35จำนวนผู้เข้าชม : 583 ครั้ง

"ปลาหมึกกับสุขภาพ" คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองส่วนหนึ่ง และได้จากอาหารอีกส่วนหนึ่ง หากจะพูดถึงปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารทะเล อาจจะกล่าวได้ว่า ปลาหมึกจัดเป็นอาหารทะเลที่มีคอเลสเตอรอลสูงที่สุด
          อาหารทะเลซึ่งถือเป็นอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสีและไอโอดีน แม้ว่าปลาหมึกจะมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็จัดเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่งมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคนทั่วไปไม่มากนัก
          ส่วนอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คือ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ ไขมันนม เนย รวมถึงไขมันทรานส์ ซึ่งพบมากในมาการีน เนยขาว ครีมเทียม และอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เช่น เค้ก คุกกี้ พาย ขนมอบต่าง ๆ
          ดังนั้น การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์สูง มากกว่าการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากวัตถุดิบที่ร่างกายใช้ผลิตคอเลสเตอรอลแหล่งใหญ่ ๆ ไม่ใช่คอเลสเตอรอลจากอาหาร แต่เป็นไขมันอิ่มตัวจากอาหาร
          บางคนมีระดับคอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์และวัย แต่หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไม่เครียดมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป
          สิ่งที่ควรระมัดระวังจากปลาหมึก น่าจะเป็นโลหะหนักที่สะสมในสัตว์ทะเล เช่น แคดเมียม  เคยมีการสุ่มตรวจปลาหมึก ทั้งที่มีขายทั่วไปในไทยและที่ส่งออก ผลปรากฏว่าพบปลาหมึกที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม มีทั้งที่ไม่เกินเกณฑ์และที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ปริมาณแคดเมียมในอาหารที่ยอมรับได้ คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
          แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า กระดาษ หมึกพิมพ์ และสี เศษแคดเมียมจะสะสมในดินและดินตะกอนใต้น้ำ
          ปลาหมึกแต่ละชนิดจะมีปริมาณสารแคดเมียมไม่เท่ากัน โดยจะพบแคดเมียมในปลาหมึกสายและปลาหมึกกระดองมากกว่าปลาหมึกกล้วย เนื่องจากปลาหมึกกล้วยหากินกลางทะเล ส่วนปลาหมึกสายและปลาหมึกกระดองหากินตามผิวดินเขตน้ำตื้น ซึ่งตะกอนดินในเขตน้ำตื้นจะมีโลหะหนักสะสมอยู่มากกว่า ดังนั้น หากเลือกได้ กินปลาหมึกกล้วยจะปลอดภัยกว่าปลาหมึกสายหรือปลาหมึกกระดอง แคดเมียมจะสะสมอยู่มากในไส้มากกว่าส่วนเนื้อ โดยเฉพาะในมันและถุงทราย ดังนั้น การควักไส้ปลาหมึกออกทิ้ง แล้วล้างให้สะอาด จะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น
          หากร่างกายได้รับแคดเมียมในปริมาณต่ำ ๆ จะไปสะสมในไต เช่นเดียวกับโลหะหนักอีกหลายชนิด หากร่างกายสะสมแคดเมียมมากเกินไป ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคกระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุน โดยจะไปรบกวนการทำงานของวิตามินดี แคลเซียม และคอลลาเจน
          ส่วนพิษเฉียบพลันของแคดเมียม หากได้รับปริมาณมาก ๆ ในคราวเดียว อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นตะคริว หรือท้องเสียอย่างแรงได้ โลหะหนักหลายชนิดจะดูดซึมได้ดีในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ จึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินในเด็กให้ดี
          นอกจากโลหะหนักแล้ว สารเคมีอันตรายที่อาจพบได้ในปลาหมึกก็คือ ฟอร์มาลีน ซึ่งมีการนำมาใช้กับอาหารทะเลและผักสด เพื่อให้คงความสด ไม่เน่าเสียเร็ว ก่อนซื้อควรดมดู หากมีฟอร์มาลีนจะได้กลิ่นฉุนชัดเจน  หากรับประทานอาหารที่มีสารฟอร์มาลีนตกค้าง อาจทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากสัมผัสอยู่เป็นประจำจะเกิดการสะสม ทำให้ผิวหนังระคายเคืองและอักเสบ มีผลเสียต่อการทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมอง
          ปลาหมึกก็เหมือนกับอาหารอีกหลายชนิดในปัจจุบันที่อาจต้องเสี่ยงกับสารอันตราย อย่างไรก็ตาม หากคนเราได้รับสารพิษหรือโลหะหนักคราวละน้อย ๆ ร่างกายจะสามารถขับออกได้บางส่วน ดังนั้น หากเรากินอย่างพอดี ไม่มากเกินไป ไม่บ่อยเกินไป เราก็ยังเอร็ดอร่อยกับเมนูปลาหมึกได้โดยไม่ต้องคอยห่วงเรื่องสารพิษ รวมถึงคอเลสเตอรอลค่ะ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  : http://www.samrong-hosp.com