สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
อวสานคนรักขนม! วิจัยสหรัฐฯ ชี้ แค่กินคุกกี้ 2 ชิ้นต่อวัน ก็อาจทำให้ "สมองเสื่อม" เร็วขึ้น เนื่องจากคุกกี้ถือเป็น "อาหารแปรรูป" ชนิดหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อสารสื่อประสาทในสมอง
ไม่ใช่แค่คุกกี้ แต่ยังรวมไปถึง “อาหารแปรรูป” อื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อสมองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารกล่องแช่แข็ง ฮอทดอก ไอศกรีม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง แครกเกอร์ ครีมชีส ลูกอม ฯลฯ
งานวิจัยชิ้นนี้เพิ่งจะเผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ในเวทีการประชุมนานาชาติของ #สมาคมอัลไซเมอร์ ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยผลวิจัยได้สรุปว่า อาหารในกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ล้วนมีส่วนทำให้อัตราการรับรู้ของสมองลดลง (สมองเสื่อม) เร็วขึ้น
ราฟาเอล เปเรซ-เอสคามิลลา ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า สุขภาพกายและสมองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าแปลกใจที่งานวิจัยล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องทางสมองที่เกิดจากการกินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ โดยอาหารแปรรูปเพียง 100 แคลอรี ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้
ก่อนหน้านี้หลายคนคงพอทราบแล้วว่า การบริโภคอาหารแปรรูปมักก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมา เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง และล่าสุดจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าว มันทำให้เราต้องตระหนักเพิ่มเติมอีกว่า อาหารกลุ่มนี้เป็นตัวการให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้การทำงานของสมองบกพร่องอีกด้วย
โดยหนึ่งในข้อค้นพบที่สำคัญ คือ มีการทดลองของสมาชิกสมาคมอัลไซเมอร์ในบราซิล โดยมีผู้เข้าร่วมทดลองซึ่งเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุ 10,000 คน แล้วทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้รับประทานอาหารแปรรูป 20% ขึ้นไปเป็นประจำ กับกลุ่มที่รับประทานอาหารแปรรูปเล็กน้อย
ผลการทดลองพบว่า “กลุ่มแรกมีประสิทธิภาพการรับรู้ของสมองลดลงเร็วกว่ามากในช่วง 6 ถึง 10 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 2 ที่รับประทานอาหารแปรรูปเพียงเล็กน้อย”
อีกทั้งยังมีงานวิจัยจากสหราชอาณาจักรที่มีผลวิจัยไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การบริโภคอาหารแปรรูปสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยทุก ๆ 10% ของการบริโภคอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น 25%
แล้ว “อาหารแปรรูป หรือ Processed foods คืออะไร?
เรื่องนี้ ราฟาเอล อธิบายเพิ่มว่า อาหารแปรรูปและอาหารแปรรูปขั้นสูง คือ อาหารที่ใช้เวลาเตรียมเพียงเล็กน้อยก่อนจะบริโภค มักจะบริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว มีส่วนผสมที่เน้นแป้ง น้ำตาล และน้ำมันพืชเป็นหลัก และมักใส่สารปรุงแต่งรส แต่งสี สารกันบูด สารให้ความคงตัว ผงโปรตีน หรือสารปรุงแต่งอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น อาหารแช่แข็ง ขนมปัง แครกเกอร์ คุกกี้ ไอศกรีม อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ของทอดแช่แข็ง ครีมชีส ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม ลูกอม น้ำอัดลม และฮอทดอก
เมื่อรับประทานอาหารกลุ่มนี้แล้ว มักจะไม่ทำให้รู้สึกอิ่มเหมือนกับการทานอาหารสดใหม่จากธรรมชาติ เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว มันฝรั่ง ไข่ อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์
ขณะที่ คลอเดีย ซูเอโมโตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเปาโล ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ใช่แค่การนับแคลอรีต่อมื้อเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจเลือกอาหารมากขึ้น (งดอาหารแปรรูป) เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจด้วย แม้บางครั้งการเปิดบรรจุภัณฑ์แล้วโยนลงในไมโครเวฟนั้นสะดวกและง่ายกว่า แต่ในระยะยาวจะทำให้สุขภาพเสียไปอีกหลายปี
ทั้งนี้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนในสมาคมอัลไซเมอร์ยังให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุที่คนอเมริกันยุคนี้หันมาบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้เนื่องจากรายได้ต่ำ รวมถึงการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ไม่มีเวลาเตรียมอาหารปรุงสดที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม พวกเขาย้ำว่ายังคงมีวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารสดใหม่ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าอาหารแปรรูป โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มีปัญหาด้านการเงิน อาจเลี่ยงการซื้อผักและเนื้อสัตว์เป็นชิ้น (สเต๊ก) ที่มีราคาแพง แล้วซื้อนม ไข่ และเนื้อบดแทน ก็จะทำให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.bangkokbiznews.com/health/1021698
อ้างอิง : USAtoday, Alzheimer's Association International Conference, health.harvard.edu