สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีการเก็บรักษาด้วยความเย็น ยังประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติมากมาย นับตั้งแต่ทางด้านการแพทย์ เพื่อใช้ในการเก็บรักษาสเปิร์มแช่แข็ง การเก็บรักษาเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งเลือดที่จำเป็นต้องใช้ต่อลมหายใจในนาทีวิกฤตฉุกเฉิน ทางด้านความงามที่ใช้ความเย็นในการทำให้เซลล์ผิวหนัง ได้แก่ ไฝ กระ หลุดลอก ซึ่งปลอดภัยกว่าใช้เลเซอร์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง การหล่อเย็นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
ผศ.ดร.มงคล เทียนวิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะนวัตกรผู้สร้างสรรค์และพัฒนาอุปกรณ์เพิ่มความหนาแน่นฉนวนถังไครโอเจนิคด้วยวิธีการสั่นสะเทือน ซึ่งได้รับการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ว่า ไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจน ออกซิเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ในสภาพปกติจะมีสถานะเป็น "แก๊ส" แต่ภายใต้ความดันสูง อุณหภูมิต่ำ จะกลายสภาพเป็น "ของเหลว" ซึ่งมีปริมาตรน้อยกว่าสถานะแก๊สมาก ทำให้ขนส่งได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภาชนะที่ใช้ในกระบวนการขนส่งและเก็บรักษา จึงต้องมีความแข็งแรงพอที่จะรักษาสภาวะความดันสูง และมีการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำ เพื่อรักษาอุณหภูมิที่เย็นจัดของสารไครโอเจนภายในไว้ให้ได้ โดยภาชนะบรรจุสารดังกล่าว หรือถังไครโอเจนิคนั้น มีลักษณะเป็นถัง 2 ชั้น สูง 6-10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ชั้นในทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม ชั้นนอกทำจากเหล็กกล้าคาร์บอน ช่องว่างระหว่างถังชั้นนอกและชั้นในบรรจุฉนวน เพื่อลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างสารที่บรรจุภายในที่เย็นจัดกับสิ่งแวดล้อมด้านนอก โดยฉนวนดังกล่าว คือ ผง Perlite ที่มีคุณสมบัติคล้ายเม็ดโฟม ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ซึ่งจะเติมจากด้านบนของถัง
ทว่า ปัญหาที่พบในกระบวนการดังกล่าว คือ ผงฉนวนไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างได้ทั้งหมด เนื่องจากไปติดค้างตามโครงสร้างเสริมความแข็งแรงภายใน ทำให้ความร้อนจากสิ่งแวดล้อมสามารถถ่ายเทให้กับสารภายในได้ผ่านจุดที่ปราศจากฉนวน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วิธีการดั้งเดิมของผู้ผลิต คือ ใช้พนักงานขึ้นไปบนนั่งร้าน เพื่อคอยเคาะผงฉนวนให้กระจายทั่วถังอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลานาน 6-8 ชั่วโมง ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และเสี่ยงอันตรายจากการทำงานบนที่สูงด้วยบทบาทแห่งการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้สร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.มงคลจึงได้คิดค้นอุปกรณ์เพิ่มความหนาแน่นฉนวนถังไครโอนิคด้วยวิธีการสั่นสะเทือน โดยออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ในการสร้างแรงสั่นสะเทือน นำไปติดที่ขาถังไครโอนิค ระหว่างกระบวนการเติมฉนวน เพื่อช่วยทำให้ผงฉนวนกระจายทั่วถังสม่ำเสมอ ซึ่งแบ่งเบากำลังคน และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสนับสนุนการผลิตของโรงงานผลิตถังฉนวนไครโอเจนิค โดยได้ออกแบบให้มีมอเตอร์สั่นสะเทือนที่ใช้มี "ขาจับ" ที่สามารถติดตั้งกับถังได้หลายขนาด
ทั้งนี้ วิธีการเดียวกันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการเติมฉนวนในกระบวนการผลิตถังไครโอเจนิคได้ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร สามารถใช้หลักการสั่นสะเทือน ลดการติดค้างของเม็ดปุ๋ย เพิ่มความหนาแน่นในการบรรจุปุ๋ย สารเคมีแบบผง หรือเม็ดที่ใช้ในการเกษตร หรืออาหารสัตว์ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ผศ.ดร.มงคล เทียนวิบูลย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายเพื่อจุดประกายนวัตกรรุ่นใหม่ว่า แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดจากแนวคิดเรียบง่าย แต่ก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้ จึงไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็น "โอกาส" ที่สามารถช่วย "เพิ่มมูลค่า" และ "คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ต่อไปได้