รู้ทัน โรคลมชัก รับมือได้

17 ม.ค. 2566 16:04:27จำนวนผู้เข้าชม : 546 ครั้ง

1. โรคลมชักคืออะไร?


      โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มอาการชักอันเนื่องมาจากการที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ จากไฟฟ้าของการชักเกิดขึ้นและกระจายออกไปในบริเวณส่วนต่าง ๆ ของสมอง อาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้นและอาการจะดำเนินอยู่ชั่วครู่


2. โรคลมชักมีสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง?


      1. ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมอง สาเหตุจากรอยโรคในสมอง ได้แก่ แผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส (สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ), เนื้องอกสมอง, เส้นเลือดสมองผิดปกติ, หลังการได้รับบาดเจ็บทางสมอง, การขาดออกซิเจนหลังคลอดจากการคลอดลำบาก


     2. พันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการที่เด่นชัดและเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ, ความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับผิวหนัง, เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด


      3. สาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, การติดเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิในสมอง


     4. สาเหตุจากภาวะเมตาบอลิซึม เช่น ภาวะความไม่สมดุลของสารน้ำ, เกลือแร่และน้ำตาล ได้แก่ ภาวะระดับเกลือโซเดียมในเลือด และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป เป็นต้น


     5. สาเหตุจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันของตนเอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบบางชนิด Rasmussen encephalitis, Limbic encephalitis และโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (SLE) เป็นต้น


    6. ยังไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) ได้แก่ โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง (Non-lesional epilepsy)


3. อาการชักจะมีลักษณะแบบใดบ้าง ?


ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 แบบใหญ่ ๆ


1. Focal Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าเฉพาะที่)


2. Generalized Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทั่วสมอง)


3. Unknown Onset (ไม่ทราบจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ)


4. Unclassified (ไม่สามารถระบุชนิดอาการชักได้)


ชนิดของอาการชัก (Epileptic seizures) ที่พบได้บ่อย ๆ


- อาการชักเฉพาะที่ (ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว) โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ โดยที่ยังไม่รู้ตัว เช่น อาการชา หรือกระตุกของแขน ขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นซ้ำ ๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หวาดกลัวความรู้สึกแปลก ๆ ความรู้สึกเหมือนฝัน หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือหัวใจเต้นผิดปกติ


- อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยมักมีอาการเตือนนำมาก่อนเหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว ตามด้วยอาการเหม่อลอย ผู้ป่วยมักจะทำปากขมุบขมิบ หรือเคี้ยวปาก หรือมือเกร็ง หรือขยับไปมา อาจคลำตามเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายโดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้างแล้ว โดยที่จำเหตุการณ์ระหว่างนั้นไม่ได้ อาการเหม่อลอยจะนานประมาณไม่กี่วินาที จนถึงหลาย ๆ นาที หลังจากนั้นผู้ป่วยมักจะมีอาการสับสน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการพูดไม่ได้หรือยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้อีกหลายนาทีกว่าจะตื่นเป็นปกติ


- อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Focal to bilateral tonic-clonic) เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติรบกวนเวลาการทำงานของสมองทั้งหมด จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า “อาการชักทั่วทุกส่วน” หรือที่เรียบว่า ลมบ้าหมู ชนิดที่พบบ่อยคือ อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตัวทันที และล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งทั่วทั้งตัว ตาจะเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจจะกัดลิ้นตนเองหรือปัสสาวะราด ระยะเวลาชักนานประมาณ 2-3 นาที หลังชักมักจะเพลียและนอนหลับหลังจากหยุดชัก


- อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence) พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมาก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ คล้ายเหม่อประมาณ 2-3 วินาที แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไปโดยมักไม่มีการเคลื่อนไหวแขน ขา


4. การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักมีอะไรบ้าง?


      การตรวจเพื่อวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง มีทั้งการตรวจแบบปกติทั่วไป ใช้เวลาบันทึกการตรวจประมาณ 20- 30 นาที และการตรวจแบบบันทึกเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง จนถึง 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง


- การตรวจ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เพื่อหาสาเหตุชักจากความผิดปกติในสมอง


- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อหาจุดความผิดปกติของสมองที่ทำให้เกิดอาการชัก เช่น PET scan และ SPECT


- ปัจจุบันมีการตรวจเลือดหาสาเหตุทางพันธุกรรมในโรคลมชักบางชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

5. โรคลมชักรักษาหายหรือไม่?


      โรคลมชักบางชนิดรักษาหายขาดได้ เช่น ชนิดที่พบสาเหตุที่ชัดเจนและแก้ไขได้ แต่ส่วนใหญ่มักควบคุมอาการได้ด้วยยารักษาโรคลมชัก และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งดื้อต่อการใช้ยารักษา จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด


6. โรคลมชักมีวิธีการรักษากี่วิธี? การรับประทานยาต้องรับประทานตลอดชีวิตหรือไม่?


       แบ่งได้ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ ใช้ยากันชักอย่างเดียว และใช้ยากันชักร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด, การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า, การใช้อาหารสูตรพิเศษ ketogenic diet คือ อาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนที่เพียงพอเหมาะสม การรับประทานยานานเท่าใดขึ้นกับชนิดของโรคลมชัก และบางชนิดไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต


7. การรับประทานยากันชักมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? ยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร ?


        ผลข้างเคียงในระยะสั้น และผลข้างเคียงในระยาว ผลข้างเคียงในระยะสั้นมักเป็นผลที่เกิดขึ้นได้ทันทีหลังรับประทานยา เช่น ภาวะมึนงง เวียนศีรษะ ง่วงซึมเนื่องจากยาออกฤทธิ์ที่เซลล์สมอง ผลข้างเคียงระยะยาว ได้แก่ ผลกระทบต่อการทำงานของตับและไตเสื่อมลง ผลกระทบด้านความคิด ความจำ สมาธิ ผลด้านน้ำหนักตัว พบทั้งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าปกติ ซึ่งยากันชักแต่ละชนิดจะมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน ยากันชักปัจจุบันที่ใช้มีทั้งยาที่ผลิตรุ่นแรก ๆ และรุ่นใหม่ ๆ ใช้รักษาโรคลมชักได้ดีไม่ด้อยกว่ากัน ขึ้นกับชนิดของโรคลมชักและขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นการใช้ยาจึงจำเป็นที่จะต้องใช้โดยคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นสำคัญ


8. โรคลมชักถ้ารักษาด้วยการทานยาไปนาน ๆ มีโอกาสที่โรคจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่?


        โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคลมชักจะใช้ยารักษาไปนาน ๆ ในที่นี้หมายถึง มากกว่า 2 ปีขึ้นไป ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคลมชักชนิดที่รักษายาก เช่น มีความผิดปกติของเนื้อสมอง ผิวสมอง ทำให้การหยุดรับประทานยามักไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวโรคลมชักเองอาจคงที่หรือมีโอกาสที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคลมชัก


9. ความรุนแรงของโรคลมชักถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่?


      โรคลมชักบางชนิด เช่น โรคมลมชักเฉพาะที่ที่ยังคุมอาการได้ไม่ดี และมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวบ่อย ๆ เช่น มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องหรือชักจนเสียชีวิตได้


10. ผู้ป่วยโรคลมชักควรดูแลตัวเองอย่างไร?


      ควรใช้หลักการทั้งดูแลตนเองทั่วไป เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายและดูแลตนเองเฉพาะโรคลมชัก ซึ่งมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและต้องหลีกเลี่ยง คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่อดนอน ไม่เครียด การออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือทำงานหนักจนเหนื่อยล้า หากไม่สบายมีไข้สูง ควรรีบรักษาให้หายให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีโอกาสทำให้อาการชักกำเริบได้ กรณีที่โรคลมชักยังไม่สงบยังอยู่ในช่วงของการปรับยากันชัก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อตนเองเมื่อมีอาการชักกำเริบ เช่น ขับรถ ว่ายน้ำ การปีนขึ้นที่สูง การใช้ของมีคม เป็นต้น


11. ถ้าเราเป็นผู้พบเห็นคนชักล้มลงกับพื้น อย่างแรกเราควรทำอย่างไร ?


     เราจะสามารถช่วยเหลืออะไรผู้ป่วยได้บ้าง ? และหากผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วเราควรทำอย่างไร ?


      ต้องตั้งสติให้ดี ตะโกนเรียกผู้อื่นให้ช่วย โทร. แจ้งขอความช่วยเหลือแล้วรีบเข้าไปประคองตัวผู้ป่วยและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างระมัดระวัง ได้แก่


 1. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงทางด้านขวา


  2. ป้องกันผู้ป่วยจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ


  3. หากสวมแว่นตาหรือฟันปลอม ควรถอดแว่นตาหรือฟันปลอมออก (ถ้าทำได้ง่าย)


  4. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกห่างจากบริเวณที่อาจเกิดอันตราย เช่น ท้องถนน เสาไฟฟ้า ที่สูง หรือบ่อน้ำ


  5. ห้ามผูกมัด หรือกดตัวผู้ป่วย หรือทำวิธีใด ๆ ให้ผู้ป่วยหยุดชัก (ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด)


  6. ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพังขณะชัก หรือหลังชักใหม่ ๆ


  7. ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทันทีหลังชักใหม่ ๆ


  8. ดูแลอาการสับสนระหว่างชัก หรือหลังชักจนกว่าจะหายไปเอง


  9. ไม่ควรเร่งให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินขณะพักฟื้น ถ้าผู้ป่วยหลับให้พักจนเพียงพอ (การรีบปลุกอาจทำให้ผู้ป่วยสับสนและอาละวาด หรืออาจเกิดการชักซ้ำได้)


12. หากเราเป็นญาติที่มีผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ที่บ้าน จะต้องดูแลและปฏิบัติตัวอย่างไร ?


1. ผู้ที่เห็นอาการชัก ควรพยายามสังเกตและจดจำลักษณะอาการชัก เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยการรักษา


 2. ควรหลีกเลี่ยงสถานที่และการทำงานที่เสี่ยงอันตรายในขณะที่ยังคุมอาการชักไม่ได้ เช่น ใกล้แหล่งน้ำ, ผิวจราจร, เตาไฟ, ของร้อน, การทำงานกับเครื่องจักรกล


 3. ห้ามขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จนกว่าจะไม่มีอาการชักอย่างน้อย 1 ปี


 4. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก ได้แก่ การอดนอน, ความเครียด, ออกกำลังกายที่หักโหมหรือทำงานอย่างหนักจนเหนื่อยล้า, การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งของหมักดอง เช่น ผักหรือผลไม้ดอง


  5. ปฏิบัติตัวและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์


- ไม่ควรหยุดยา, ลดยา หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ


- ถ้าไม่เข้าใจวิธีรับประทานยา ควรสอบถามทันที


- ถ้าลืมรับประทานยาไปเพียงมื้อเดียว หรือวันเดียว ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้มื้อยาต่อไปให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ


- ไม่ควรรับประทานยาอื่น ๆ ร่วมกับยากันชักโดยมิได้ปรึกษาแพทย์


- ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำยาที่รับประทานในปัจจุบันไปให้แพทย์พิจารณาด้วย


  6. แม้ว่าคุมอาการชักได้ดีแล้ว ห้ามหยุดยาเองก่อนเวลาที่แพทย์แนะนำ เพราะโรคอาจยังไม่หายหรือกำเริบซ้ำใหม่ได้


  7. เมื่อตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาถึงโรคที่เป็น และยาที่รับประทานทั้งหมดในปัจจุบัน


  8. ถ้ามีอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ยา เช่น เป็นผื่น มีไข้ ควรโทรศัพท์ปรึกษาทางสายด่วนทันที และกลับมาพบแพทย์ผู้รักษา พร้อมนำยาที่รับประทานมาด้วย


13. อยากให้คุณหมอแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคลมชัก


        โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนพบได้มากถึง 1% ของประชากร ส่วนใหญ่โรคลมชักเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ คือ ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบได้โดยการรักษาด้วยการรับประทานยากันชัก หรือหากพบสาเหตุที่แก้ไขได้ก็อาจหายขาดได้


        โรคลมชักมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย ครอบครัว และบุคคลรอบข้าง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตราบาป รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง และคุณค่าในตนเอง เนื่องจากลักษณะอาการชักที่ปรากฏต่อหน้าบุคคลทั่วไป อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน หน้าที่การงาน โอกาสและสิทธิทางสังคมได้


         เพราะฉะนั้นทั้งบุคคลภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคลมชัก และช่วยกันเฝ้าระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยมีอาการชัก จะได้ช่วยกันดูแลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษากับแพทย์ต่อไป


 ขอขอบคุณข้อมูล : นพ.ยอด ปิ่นโรจน์ อายุรแพทย์ระบบประสาท อนุสาขาประสาทวิทยาโรคลมชัก


ศูนย์สมองและระบบประสาท ร.พ.กรุงเทพพัทยา


ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.bangkokpattayahospital.com/