สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
แพ้แอลกอฮอล์ ( Alcohol flush Reaction ) เป็นอาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากการดื่มเหล้า หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งแต่ละคนจะแสดงอาการแพ้แอลกอฮอล์แตกต่างกัน เช่น หน้าแดง (flushing) ตัวแดง ตาแดง เกิดผื่นแดง มีอาการคัน หรือหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย บางคนคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการปกติที่มักเกิดหลังจากการดื่มเหล้า แต่ความจริงแล้วร่างกายกำลังบอกคุณว่า ร่างกายมีความผิดปกติน่ะซิ!
แพ้แอลกอฮอล์คืออะไร?
โดยปกติแล้ว เมื่อเราดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ฯลฯ เข้าไป ในตับจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “ALDH2” คอยทำหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายที่ชื่อว่า อะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ให้กลายเป็น อะซิเตต (Acetate) ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ในระหว่างที่ร่างกายกำลังเผาผลาญแอลกอฮอล์ (Ethanol) แต่ในกรณีคนที่แพ้แอลกอฮอล์นั้น เกิดจากการที่ร่างกายนั้นขาดเอนไซม์ ALDH2 หรืออาจจะมีเอนไซม์ชนิดนี้อยู่แต่ทำงานบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถเผาผลาญแอลกอฮอล์ออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการคั่งของสารพิษอะซิทัลดีไฮด์ ทำให้เกิดอาการหน้าแดง มึนเมา ปวดหัว ฯลฯ หรืออาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่าหลังจากได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย ถึงขั้นเกิดโรคแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
อาการแพ้แอลกอฮอล์เป็นอย่างไร?
จากที่กล่าวข้างต้นว่า อาการแพ้แอลกอฮอล์นั้นเกิดจากการที่ในตับขาดเอนไซม์ที่ชื่อว่า “ALDH2” หรือเอนไซม์ทำงานบกพร่อง ALDH2 deficient ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรมบกพร่อง … เมื่อเอนไซม์ ALDH2 ทำงานบกพร่อง ทำให้บางคนที่ดื่มเหล้าเข้าไปแล้วแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดอาการมึนหัว หน้าแดง ตัวแดง (อาจจะเป็นแค่ช่วงหัว-หน้าอก หรือแดงทั้งตัวก็ได้) ตาแดง ฯลฯ ได้เร็วกว่าคนทั่วไป และต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพราะสารพิษที่คั่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ นั่นเอง
และยิ่งในคนที่มีความบกพร่องเอนไซม์ชนิดนี้มาก ๆ เอนไซม์เผาผลาญแอลกอฮอล์ได้ไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงหลังดื่มเหล้าได้ เช่น เป็นลม หรือสลบไปเลย เพราะทนต่อสารพิษ อะเซทาลดีไฮด์ (acetaldehyde) ไม่ไหว หรืออาจเกิดกรณีร้ายแรง เช่น ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คล้ายโรคภูมิแพ้ เนื่องจากทำให้เนื้อเยื่อทางเดินหายใจบวมจนไปปิดกั้นหลอดลม ส่งผลให้หายใจไม่ออก หายใจติดขัด ซึ่งหากพบอาการเช่นนี้ต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้
แพ้แอลกอฮอล์มักเกิดกับคนกลุ่มใด?
อาการแพ้แอลกอฮอล์ ส่วนมากแล้วจะพบในคนเชื้อสายเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ โดยสังเกตได้ง่าย ๆ จากเวลาดื่มเหล้า ฯลฯ คนเอเชียมักมีอาการแพ้แอลกอฮอล์ และมีอาการ hang over หรือเมาค้างมากกว่าคนชาติอื่น เพราะต้องใช้เวลาในการเผาผลาญสารพิษช้ากว่า จนมีชื่อเรียกเฉพาะของอาการแพ้แอลกอฮอล์ของคนเอเชียด้วยว่า Asian Flush ซึ่งหากปล่อยอาการผิดปกตินี้ทิ้งไว้ในระยะยาว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร
จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้แอลกอฮอล์ ?
ให้ทดสอบโดยการ
1. ตอนดื่มเหล้าครั้งแรก ให้สังเกตอาการว่าเกิดอาการหน้าแดงหรือไม่? หากมีอาการหน้าแดง แสดงว่าร่างกายขาดเอนไซม์ ALDH2 และมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหาร
2. สังเกตอาการตอนดื่มเหล้าในช่วง 1-2 ปีหลัง ว่าทุกครั้งที่ดื่มยังมีอาการหน้าแดง ตัวแดง อยู่หรือไม่? หากตัวแดงในครั้งแรก และจางลงเรื่อย ๆ จนไม่มีอาการแดงแล้ว แสดงว่าร่างกายเริ่มติดเหล้า ซึ่งก็ไม่ใช่ผลดี เพราะในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ รวมถึงมะเร็งหลอดอาหาร
อันตรายของอาการแพ้แอลกอฮอล์
ข้อควรระวังของคนที่แพ้แอลกอฮอล์ คือ ไม่ควรดื่มเหล้ามาก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงเป็นโรคได้หลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ฯลฯ รวมถึงมะเร็งหลอดอาหารด้วย
มีงานวิจัยพบว่า คนที่มีอาการแพ้แอลกอฮอล์ หรือขาดเอนไซม์ย่อยสลายแอลกอฮอล์ ALDH2 นี้ หากดื่มเบียร์เพียงวันละ 2 กระป๋อง ก็อาจเกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าคนทั่วไปถึง 6-10 เท่า! เลยทีเดียว แต่หากเราสามารถควบคุมหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ถึง 53%
แพ้แอลกอฮอล์ ( Alcohol flush Reaction ) รักษาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาอาการแพ้แอลกอฮอล์นี้โดยตรง บางคนใช้ยาที่รักษาโรคกรดไหลย้อนแทน ซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผลกับผู้ป่วย เพราะยานี้เป็นเพียงแค่การปกปิดอาการไว้ ไม่ใช่ยารักษาจริง ๆ แต่ปัจจุบันยาดังกล่าวได้ถูก อย. เรียกคืนแล้ว เนื่องจากเสี่ยงกับการเป็นมะเร็ง
ขณะเดียวกันมีคนบางกลุ่มใช้ยาที่มีสารควบคุมฮิสตามีน 2 เพื่อช่วยให้หายจากอาการเมา แต่จริง ๆ แล้วยาตัวนี้ไม่ได้ช่วยทำให้หายเมาแต่ทำให้เมาเร็วขึ้นต่างหาก อีกทั้งยังทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าปกติ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งผิวหนัง อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีกกรณี คือ แพทย์จะจ่ายยาจำพวกเอพิเนฟรีนที่มาในรูปแบบปากกาฉีดยาแบบพกพาให้ผู้ป่วย เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหากผู้ป่วยเกิดอาการ และผู้ที่ใช้ยานี้จะต้องได้รับการจ่ายยาและเรียนรู้วิธีการฉีดจากแพทย์ก่อนเท่านั้น หลังจากการฉีดยาผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยและรักษาอาการที่เกิดขึ้นต่อไป
ลดความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร
หากรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เกิดเป็นมะเร็งหลอดอาหารต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค .. เช่น
1. ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
2. ไม่สูบบุหรี่
3. รับประทานผักและผลไม้ที่มีประโยชน์
4. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดจนเกิดไป
5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่าปล่อยให้อ้วน หรือน้ำหนักเกิน
อาการแพ้แอลกอฮอล์ที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านั้น เกิดจากการที่เอนไซม์ในตับทำงานบกพร่อง หรือขาดเอมไซม์นี้ไป ทำให้ร่างกายนั้นไม่สามารถขับสารพิษหรือแอลกอฮอล์ออกไปจากร่างกายได้ และถ้าหากรู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าวนี้ก็ควรลดปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์ลง แล้วหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อลดและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล : นพ. สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.rattinan.com/alcohol/