ภัยแล้ง ไม่ใช่แค่ความแห้งแล้ง แต่คือหายนะที่อาจคร่าชีวิตผู้คนได้นับล้าน!!!

17 มี.ค 2566 15:02:00จำนวนผู้เข้าชม : 1229 ครั้ง

ปัญหาภัยแล้ง เป็นวิกฤติร้ายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน และ Climate Change องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ALLWELL จึงขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับความน่ากลัวของภัยแล้ง และวิธีรับมือในวันที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและธรรมชาติกันมากขึ้นค่ะ
ภัยแล้ง เกิดจากอะไร?
            ภัยแล้ง คือ ภัยธรรมชาติหนึ่งที่เกิดจากการที่ฝนตกน้อยหรือไม่ตกตามฤดูกาล เป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี หรือที่หลายคนเรียกว่า ฝนแล้ง ซึ่งทำให้สภาพดินฟ้าอากาศเกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะการอุปโภค บริโภค เศรษฐกิจ สังคม และยังก่อให้เกิดอัคคีภัยและโรคระบาดตามมาอีกมากมาย


            ในประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยมักเกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะมีภัยแล้งอีกช่วงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม โดยมักจะเกิดแค่บางพื้นที่ แต่บางครั้งอาจเกิดทั่วประเทศเลยก็ได้ ซึ่งภัยแล้งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์
ภัยแล้งเกิดจากอะไร?
1.สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกน้อย-ทิ้งช่วงนาน น้ำใต้ดินมีน้อย ดินเก็บความชื้นไม่ดี
2.อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง อากาศร้อนมากกว่าปกติ ทำให้ฝนไม่ตก-แห้งแล้ง
3.ตำแหน่งร่องมรสุมเกิดความผิดปกติ ทำให้ฝนทิ้งช่วงหรือตกไม่ต่อเนื่อง
4.พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่เกิดฝน
5.อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาพลาสติก มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
6.ใช้น้ำมากจนเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใต้ดินลดลง

7.การตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้ขาดความชื้นและขาดต้นไม้ซึมซับน้ำ
อันตรายของภัยแล้งที่เป็นมากกว่าความแห้งแล้ง
ภัยแล้งไม่ได้สร้างแค่เพียงความแห้งแล้งหรืออากาศที่ร้อนเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความแห้งแล้งนี้ เป็นบ่อเกิดของภัยพิบัติและหายนะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งหากภัยแล้งนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ท้ายที่สุดแล้ว อาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดดำรงชีวิตอยู่เลยก็เป็นได้
อันตรายของภัยแล้ง
- มนุษย์เกิดภาวะขาดแคลนและอดอยาก เนื่องจากขาดน้ำในการอุปโภค-บริโภค
- ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร และเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ขาดผลผลิตและอาหาร
- เมื่อไม่มีน้ำดื่ม ก็จะตามมาด้วยภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และเกิดโรคระบาด
- น้ำประปาที่มีอยู่อาจเกิดปัญหาน้ำเค็ม อันตรายต่อผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
- สัตว์โลกจะล้มตาย เนื่องจากขาดอาหารและที่อยู่อาศัย
- เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตเป็นวงกว้าง
- เกิดพายุฝุ่นหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ตามมา

- ขาดกระแสน้ำไหลผ่านเขื่อน ส่งผลให้มนุษย์ผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้น้อยลง
- อุตสาหกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก เนื่องจากขาดน้ำ ผลผลิต และกระแสไฟฟ้า ทำให้ประชากรตกงาน
- รัฐจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการช่วยเหลือประชากรที่ประสบภัยพิบัติ
- อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งและสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากร
7 โรคที่มากับภัยแล้ง
โรคที่มากับภัยแล้งที่มักพบ ส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นมาจากการขาดน้ำในการอุปโภค-บริโภค รวมทั้งสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น

1.ภาวะขาดน้ำและขาดสารอาหาร
2.โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เนื่องจากมลพิษทางอากาศ
3.โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ เนื่องจากอาหารบูดเสียและปนเปื้อนเชื้อโรค
4.โรคผิวหนัง จากการไม่มีน้ำเพียงพอในการทำความสะอาดร่างกาย
5.โรคลมแดด (Heat Stroke)
6.โรคสัตว์เลี้ยงที่มากับอากาศร้อน เช่น พิษสุนัขบ้า
7.มีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหัว เครียด หงุดหงิด นอนไม่หลับ
รับมืออย่างไรในวันที่ภัยแล้งมาเยือน
ภัยแล้ง เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เห็นได้ว่ามีประชากร 1 ใน 3 จากทั่วโลก ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และด้วยภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้อนาคตความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ หรืออาจจะทั่วโลกเลยก็ได้ ซึ่งถ้าวันหนึ่งภัยแล้งนี้เกิดขึ้นกับเรา เราควรรับมือกับภัยร้ายนี้อย่างไรบ้าง?

วิธีรับมือภัยแล้ง-ฝนแล้ง
- หากมีทีท่าว่าจะเกิดภัยแล้ง ให้เตรียมกักเก็บน้ำสะอาด เพื่อใช้อุปโภค-บริโภคให้เพียงพอ
- บริหารจัดการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
- ติดตามข่าวสารเรื่องภัยพิบัติอยู่เสมอ
- วางแผนเตรียมไว้ ในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพ
- กำจัดวัสดุหรือสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงไฟรอบ ๆ บ้าน เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟป่า
- เตรียมเบอร์โทร. ฉุกเฉิน เมื่อขาดน้ำในการบริโภค และขอความช่วยเหลือในการดับไฟป่า
- หากต้องใช้น้ำในการทำการเกษตร ควรใช้ในช่วงเช้าและเย็น เพื่อลดอัตราการระเหยน้ำ
เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภัยแล้งอย่างไรได้บ้าง?
หัวใจหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้ง คือเรื่องของการขาดน้ำในการใช้อุปโภค-บริโภค ดังนั้น การจะป้องกันไม่ให้ภัยแล้งเกิด เราต้องหยุดต้นตอที่จะทำให้เกิดภัยนี้ แน่นอนว่า เรื่องภัยพิบัติธรรมชาติเราอาจห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนรับมือ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของภัยแล้งได้
วิธีป้องกันภัยแล้ง
- ใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้ฝักบัวแทนการตักอาบ น้ำเหลือนำไปรดต้นไม้ ฯลฯ
- หาบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และมีฝาปิดมิดชิด สำหรับสำรองน้ำสะอาดไว้ใช้
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่า ไม่ทำลายหรือบุกรุกธรรมชาติ
- รดน้ำต้นไม้ในช่วงเช้าและเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด จะช่วยลดอัตราการระเหยน้ำ
- หมั่นตรวจสอบท่อน้ำ หากน้ำรั่วซึมให้รีบซ่อมแซม

สรุป
            ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามได้ เพราะภัยแล้งไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้ง แต่คือภัยพิบัติที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมาย หากรุนแรงมากและขยายวงกว้างไปทั่วโลก อาจทำให้มวลมนุษยชาติไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เราควรหันมาดูแลรักษา และบริหารจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดดันนะคะ



ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://allwellhealthcare.com/droughts/