มะเร็งรังไข่

21 มี.ค 2566 14:01:59จำนวนผู้เข้าชม : 345 ครั้ง

ในประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่ 5.2 ต่อประชากรสตรี 100,000 คนต่อปี ช่วงชีวิตของสตรีที่ไม่มีประวัติของมะเร็งรังไข่ในครอบครัว จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 1.4 หรือ 1 ในสตรี 70 คน และโอกาสนี้จะสูงขึ้นถ้ามีประวัติมะเร็งรังไข่ในครอบครัว ปัจจุบันได้มีการค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่


ระบาดวิทยา
            มะเร็งรังไข่พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยชนิดและอุบัติการณ์ของมะเร็งแตกต่างกันไปตามอายุในเด็กและสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 60 จะเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดเจอร์มเซลล์ พบมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวร้อยละ 85 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด มะเร็งชนิดนี้พบน้อยในวัยรุ่น อุบัติการณ์จะสูงขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังอายุ 40 ปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 55 ปี หลังจากนั้นจะลดลง

ปัจจัยเสี่ยง
            การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่โดยเฉพาะชนิดเยื่อบุผิว โดยหญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ได้แก่ อายุมาก แต่งงานแต่ไม่มีบุตร มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ หรือเต้านม และมีประวัติญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ การที่มีการตกไข่อย่างต่อเนื่องทุกเดือน หญิงที่หมดระดูเมื่ออายุมาก สำหรับหญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวน้อย ได้แก่ มีบุตรมาก มีภาวะไม่ตกไข่ และมีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 5 ปี สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ลงได้ครึ่งหนึ่ง หญิงที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกโดยเหลือรังไข่ไว้ หรือได้รับการทำหมัน การตั้งครรภ์และการให้นมบุตรเป็นเวลานานมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ ส่วนการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟ และการใช้ฮอร์โมนเอสโตเจนในวัยหมดระดู ไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่
อาการและอาการแสดง
            อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุด ได้แก่ อาการท้องโตอืดขึ้น เนื่องจากในท้องมีน้ำหรือมีก้อนเนื้องอกใหญ่ แน่นอึดอัดในท้อง ปวดท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคที่ได้แพร่กระจายไปในช่องท้องมากแล้ว นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่โรคยังเป็นไม่มาก อาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ท้องผูกแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง ฉะนั้น สตรีที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการดังกล่าวและได้รับการรักษาด้วยยาโรคกระเพาะอาหารแล้วไม่ดีขึ้น ควรต้องนึกถึงโรคมะเร็งรังไข่ไว้บ้าง อาการอื่นที่พบ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักตัวลด การปวดท้องเฉียบพลัน อาการบิดขั้ว ก้อนแตกหรือเลือดออกในช่องท้อง บางรายอาจไม่มีอาการซึ่งอาจตรวจพบจากการตรวจภายใน หรือการตรวจร่างกายทั่วไป
การรักษา
            การรักษาหลักของมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ประกอบไปด้วย การผ่าตัดและเคมีบำบัด รังสีรักษามีที่ใช้น้อย การใช้ immunotherapy กับการรักษาทางยีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การพยากรณ์โรคจะดีหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะของโรค ชนิดของเนื้อเยื่อที่เป็น และขนาดของมะเร็งที่เหลืออยู่หลังการผ่าตัดครั้งแรก
            อย่างไรก็ดี ต้องมีการติดตามหลังการรักษาเพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตัว อาการของมะเร็งกลับเป็นซ้ำ ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายใน การตรวจ tumor marker และการตรวจทางรังสี หรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้


ขอขอบคุณ : อ. พญ.สุวิชา จิตติถาวร อาจารย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/gyne/ovary