ชมพู่ ผลไม้ยาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

22 มี.ค 2566 15:44:44จำนวนผู้เข้าชม : 1461 ครั้ง

ชมพู่เป็นไม้ชนิดหนึ่งในหลายร้อยชนิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อค้นคว้าดูพบได้ถึง 6  เล่ม คือ เล่มที่ 1, 26, 27, 28, 32 และ 33 การบันทึกไว้ส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงการเป็นผลไม้ที่กินได้ ที่น่าสนใจ คือ ชมพู่ใ

            ชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium jambos (L.) Alston) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า rose apple เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และมีการนำไปปลูกในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ผลมีลักษณะที่แตกต่างไปจากชมพู่ทั่วไป มีผลกลมคล้ายแอปเปิล ใช้รับประทานได้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานมาก เปลือกยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้ด้วย ในอดีตเคยมีการปลูกเป็นการค้า ปัจจุบันจัดเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง จึงทำให้มีการขายผลหรือลูกชมพู่ชนิดนี้ราคาแพง
            ในการใช้ประโยชน์สมุนไพร พบว่า ประเทศเนปาลมีการใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นชมพู่เป็นยาบำรุงร่างกายและเป็นยาขับปัสสาวะ ในประเทศอินเดียใช้ผลเป็นยาบำรุงร่างกายเพื่อฟื้นฟูและปกป้องสมองและตับ มีการนำผลชมพู่มาชงหรือแช่น้ำดื่มเพื่อขับปัสสาวะ เกสรดอกชมพู่ใช้ลดไข้ เมล็ดใช้แก้โรคท้องร่วง บิด และโรคหวัด ในประเทศนิการากัวมีการอ้างถึงการแช่เมล็ดชมพู่ที่คั่วบดแล้ว นำมาชงดื่มเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในประเทศคัมเบียใช้เมล็ดเป็นยาชา ใบนำมาต้มใช้รักษาอาการเจ็บตา นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะและรักษาอาการไขข้ออักเสบ น้ำหมักจากใบใช้เป็นยาแก้ไข้ ใบแห้งบดให้เป็นผง ใช้ทาตามตัวผู้ป่วยที่เป็นไข้ทรพิษเพื่อเป็นการลดความร้อนจากภายใน เปลือกของต้นมีแทนนินอยู่ประมาณ 7-12.4% จึงใช้เป็นยาสมานแผลได้ และยังนำมาเป็นยาทำให้อาเจียนและเป็นยาระบาย และยังมีการนำเปลือกของต้นนำไปทำเป็นยาต้มดื่มเพื่อบรรเทาโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบและเสียงแหบ ชาวคิวบาเชื่อว่ารากมีประสิทธิภาพสำหรับแก้โรคลมชัก
            ชมพู่แก้มแหม่ม (Syzygium samarangense (Blume) Merr. & L.M.Perry) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า wax apple, Java apple, Semarang rose-apple และ wax jambu มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิยมปลูกไปทั้งภูมิภาค มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้ชมพู่ที่มีลักษณะแตกต่างกัน และเรียกชื่อได้มากมาย เช่น ชมพู่สีนาก ชมพู่พลาสติก ชมพู่กะหลาป๋า ชมพู่เพชรบุรี ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่ทับทิมจันท์ เป็นต้น ในอินโดนีเซียนิยมนำไปทำโรยักหรือนำไปดองที่เรียกอาซีนัน เปลือกผลมีลักษณะคล้ายไขเคลือบ เนื้อค่อนข้างแห้ง มีกลิ่นหอม
            ชมพู่แก้มแหม่มมีการนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นยาพื้นบ้าน เช่น ในส่วนของเปลือกมีแทนนินสูง ใช้เป็นยาสมานแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกใบและรากของชมพู่แก้มแหม่ม หรือบางที่เรียกว่า แอปเปิ้ลมาเลย์ มีการนำมาใช้กับโรคที่แตกต่างกัน เช่น ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ใช้ใบรักษาโรคผิวหนัง ส่วนของดอกชมพู่แก้มแหม่มใช้เป็นยาสมานแผลและใช้ในการรักษาอาการไข้และหยุดอาการท้องเสีย ในชมพู่มีส่วนประกอบทางเคมี เช่น แทนนิน และยังมี desmethoxymatteucinol (สารลดความอ้วน) 5-O-methyl-4-desmethoxymatteucinol (ลดน้ำตาลในเลือด) กรดโอเลอิก และ B-sitosterol (ช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์) จากการทดสอบสารสกัดจากดอก พบว่า มีประสิทธิภาพอย่างอ่อนในการต่อต้านแบคทีเรียและราหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Mycobacterium smegmatis และ Candida albicans
            ชมพู่มะเหมี่ยว หรือ ชมพู่สาแหรก (Syzygium malaccense (L.) Merr. & L.M.Perry) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Malay rose apple มีการกระจายตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย นิวกีนี หมู่เกาะบิสมาร์ก ตอนเหนือของออสเตรเลีย ในหมู่เกาะนิวกีนีนิยมนำดอกมาดองกับน้ำเชื่อมหรือกินสดแบบผักสลัด ใบอ่อนและยอดอ่อนในขณะที่ยังเป็นสีแดงก็นำมากินดิบร่วมกับข้าวได้
            ในการนำมาใช้ทางสมุนไพร ใช้เปลือกไม้มารักษาวัณโรค การติดเชื้อในปาก ปวดท้องและโรคในช่องท้อง รักษาแผลในปากของเด็ก ใช้เป็นยาถ่ายและเป็นยาพื้นบ้านรักษากามโรค ส่วนของใบใช้แก้อาการตาแดง ใบนำมาต้มใช้เป็นยาล้างแผลที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง และยังใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยาแก้ไอ ปัสสาวะมีสีเหลือง แก้อาการเบื่ออาหาร ยาแก้ปวดกระดูก แก้เบาหวาน โรคหนองใน กระเพาะอาหารบวมหลังคลอด เจ็บคอ โรคหลอดลมอักเสบ และเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก
            เฉลยคำตอบหลังจากรู้จักชมพู่ทั้ง 3 ชนิดแล้ว น่าจะตอบได้ว่า ชมพู่ในพระไตรปิฎกนี้ หมายถึง ชมพู่น้ำดอกไม้ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และในกลุ่มประเทศอินเดีย เนปาล และมีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์ทางยาอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังพอสรุปได้ว่า ชมพู่น้ำดอกไม้ แก้มแหม่มหรือมะเหมี่ยว ต่างก็เรียกว่าชมพู่เหมือนกัน แต่การนำมาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมีลักษณะแตกต่างกันออกไป
            ปัจจุบันมีการปลูกชมพู่ในทุกภาค โดยเฉพาะกลุ่มชมพู่แก้มแหม่มมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร แต่ปลูกเพื่อบริโภคผลเท่านั้น หวังว่าต่อจากนี้เรามาช่วยกันฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านสรรพคุณทางยา เพื่อเพิ่มคุณค่าของชมพู่ให้กว้างขวางเป็นประโยชน์มากขึ้น


 


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.thaihof.org