การติดเชื้อในกระแสเลือด

22 มี.ค 2566 16:25:32จำนวนผู้เข้าชม : 978 ครั้ง

ภาวะที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติจนอวัยวะสําคัญ ๆ เริ่มทํางานผิดปกติ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจรุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว
การติดเชื้อในกระแสเลือด
            การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติจนอวัยวะสําคัญ ๆ เริ่มทํางานผิดปกติ
            ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจรุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว และนําไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาประกอบไปด้วย การค้นหาตำแหน่งอวัยวะที่มีการติดเชื้อ การให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้าง ครอบคลุมการติดเชื้อเบื้องต้น การผ่าตัดในกรณีที่มีหนองหรือมีข้อบ่งชี้ การให้สารน้ำ และ/หรือการให้ยาอื่น ๆ เพื่อประคับประคองความดัน รวมถึงการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล
            การให้ยาปฏิชีวนะ สารน้ำ และยาประคับประคองความดัน ทางหลอดเลือดเป็นวิธีรักษาที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
อาการ
สัญญาณและอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด
            1.มีไข้ ซึมลง หรือสับสน หายใจเร็ว ร่วมกับความดันต่ำกว่า 90 หรือในผู้ป่วยที่มีโรคความดันสูง ความดันลดต่ำลงกว่าปกติมาก
            2.อัตราการหายใจเท่ากับหรือเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที
สัญญาณและอาการของภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
            ภาวะช็อกอาจเกิดขึ้นในกรณที่ความดันโลหิตต่ำลงมาก ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ระบบต่าง ๆ ลดลง เกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ หากอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
            การติดเชื้อในกระแสเลือดมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที หรือเกิดขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ภูมิต้านทานต่ำ โรคประจำตัว เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการซึมลง สับสน รับประทานอาหารได้น้อย ความดันต่ำลง ปัสสาวะออกลดลง ควรไปพบแพทย์ทันที ในกรณีผู้สูงอายุ บางครั้งอาจจะไม่มีไข้ได้ โดยการที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ถือว่ามีอาการรุนแรง

สาเหตุ
            การติดเชื้อในกระแสเลือดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อราได้ โดยเป็นผลแทรกซ้อนตามมาจากการที่ร่างกายมีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ เช่น
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ
- การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ
- การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ
- การติดเชื้อจากการใส่สายสวนหลอดเลือดดำ สายฟอกไต สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
- แผลอักเสบติดเชื้อลุกลาม
ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อในกระเสเลือด
- ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงหรือยากดภูมิต้านทานสูง
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือตับแข็ง
- ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยรักษาตัวในห้องไอซียู
- ผู้ป่วยรักษาด้วยการใส่ท่อหายใจหรือสายสวนทางหลอดเลือดดํา
ภาวะแทรกซ้อน
            การติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงนั้นส่งผลกระทบให้ความดันต่ำลง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ลดลง รวมถึงอาจมีภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันในเส้นเลือดฝอย ทำให้เกิดอวัยวะล้มเหลวได้หลายระบบ เช่น ไตวายเฉียบพลัน การหายใจล้มเหลว ภาวะเลือดเป็นกรดที่รุนแรงจากกรดแลกติกในเลือดคั่ง คนไข้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อนั้นส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการติดเชื้อ ในกรณีที่อาการรุนแรง รับการรักษาในไอซียู นั่นจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าที่จะฟื้นฟูอวัยวะที่ล้มเหลวให้กลับมาทำงานได้ปกติ
การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือด
            แพทย์ผู้ดูแลรักษาประเมินจากประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งการติดเชื้อ และจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น

1.การตรวจเลือดทั่ว ๆ ไป เป็นการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาการติดเชื้อ ตรวจค่าความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC) ค่าการทำงานตับ ไต เกลือแร่ ค่าความสมดุลกรด-ด่างในเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
2.การตรวจเพาะเชื้อโดยตรงจากเลือด เสมหะ ปัสสาวะ บาดแผล หรือหนอง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และอาการของผู้ป่วย
3.การตรวจวินิจฉัยโดยรังสีวิทยา
4. เอกซเรย์ปอด
5.อัลตราซาวนด์ เป็นเทคโนโลยีคลื่นเสียงส่งภาพไปยังหน้าจอ เพื่อวินิจฉัยภาวะการติดเชื้อในช่องท้อง เช่น ตับ ทางเดินน้ำดี ไต หรือชั้นใต้ผิวหนัง เป็นต้น
6. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งถ่ายภาพเอกซเรย์จากหลาย ๆ มุม และแสดงโครงสร้างภายในแบบตัดขวางเพื่อใช้วินิจฉัยการติดเชื้อในอวัยวะช่องท้อง ลำไส้แตกรั่ว อุดตัน หนองในช่องท้อง หรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น
7. การตรวจด้วยเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แสดงภาพได้ละเอียดกว่าเอกซเรย์ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและกระดูก
การรักษา
            การได้รับการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างทันท่วงที การดูแลและการรักษาของหน่วยไอซียูอย่างใกล้ชิดนั้น จะทำให้ผลของการรักษาของผู้ป่วยดีฟื้นตัวได้สูง
การรักษาด้วยยา
ประกอบไปด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้างทางหลอดเลือดดำ ครอบคลุมชนิดและตำแหน่งของการติดเชื้อที่แพทย์สงสัย
- การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- การให้ยาเพิ่มความดันโลหิตหากความดันโลหิตของผู้ป่วยต่ำแม้ว่าจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดแล้ว แพทย์อาจสั่งยาเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งช่วยกระตุ้นการบีบตัวของหลอดเลือด
- ยาอื่น ๆ เช่น อินซูลิน ควบคุมน้ำตาลในเลือด ยากล่อมประสาทในกรณีใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
- การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ซักประวัติโรคเดิมหรืออาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย
การรักษาด้วยการผ่าตัด
           ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อบางตำแหน่ง เช่น ฝีหนองในช่องท้อง ลำไส้แตกรั่ว การติดเชื้อผิวหนังรุนแรง เนื้อเยื่อตายนั้น จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดตำแหน่งที่ติดเชื้อ ระบายฝีหนองโดยการใส่สายระบาย การถอดสายสวนหลอดเลือดดำที่มีการติดเชื้อออก เป็นต้น เนื่องจากการติดเชื้อชนิดดังกล่าวนั้นลุกลามเกินกว่าจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้างเพียงอย่างเดียวได้

การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ
- การให้ออกซิเจนหรือการใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลว
- การฟอกไต ในกรณีที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ปัสสาวะออกน้อย เลือดเป็นกรด ความสมดุลเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง
- การให้เลือดหรือพลาสมาในกรณีที่มีภาวะซีดรุนแรงหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ


 


ขอขอบคุณ : รศ.พญ.มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : https://medparkhospital.com/content/septicemia