โครงการ “เจาะเลือดใกล้บ้าน” ช่วยลดความแออัดใน ร.พ.

20 ต.ค. 2563 16:13:19จำนวนผู้เข้าชม : 766 ครั้ง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดตัวโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการวางระบบการเจาะเลือด การเก็บและการส่งตัวอย่าง ที่สถานบริการสุขภาพ คลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ใกล้บ้าน ก่อนนัดพบแพทย์ ช่วยลดเวลาการรอในโรงพยาบาล โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทำคู่มือหน่วยบริการเจาะเลือด และการเก็บและส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาล รวมทั้งจัดอบรมให้กับแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์และเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญของรัฐบาล” ว่า เพื่อเป็นการเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ สร้างความพึงพอใจในคุณภาพการบริการ ดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย จึงได้มอบนโยบายสาธารณสุขสร้างชาติและการลดความแออัด เป็นแนวทางดำเนินการของทุกภาคส่วนให้เร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน สร้างความพึงพอใจในคุณภาพ การบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เน้นเพิ่มศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่เขตสุขภาพ ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
          นายอนุทิน กล่าวว่า นักเทคนิคการแพทย์ที่มีจำนวนอยู่ 19,000 คน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเจาะเลือดและเก็บตัวอย่างนอกโรงพยาบาล เพื่อลดระยะเวลาในการรอคอยการเจาะเลือดและบริการทางห้องปฏิบัติการ การเจาะเลือดใกล้บ้านที่สถานบริการสุขภาพ คลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.).ใกล้บ้าน ก่อนนัดพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้มากกว่า 2-5 ชั่วโมง โดยต้องมีการวางระบบในการเก็บตัวอย่าง การส่งตัวอย่าง การส่งข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ การกำกับดูแลมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้เริ่มในพื้นที่จังหวัดนครปฐมเป็นหน่วยงานนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา โดยจังหวัดนครปฐมเป็นหนึ่งในพื้นที่กลุ่มโรงพยาบาลจตุรทิศ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพื่อที่จะพัฒนาและจัดระบบการให้บริการ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแลมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้หาแนวทางการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล พบว่า ความแออัดในโรงพยาบาลจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ ระยะเวลาในการรอคอยการเจาะเลือดและบริการทางห้องปฏิบัติการ การเจาะเลือดใกล้บ้านที่สถานบริการสุขภาพคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก่อนนัดพบแพทย์ จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลของประชาชนที่เข้ามารับบริการได้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำคู่มือหน่วยบริการเจาะเลือด การเก็บและส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาลและแบบประเมินมาตรฐานหน่วยเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล รวมทั้งจัดอบรมให้กับแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบและเข้าใจในการดำเนินการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการและให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตอบสนองนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข