สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ คือ โรคในกลุ่มที่มีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ซึ่งเกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นไปกดทับถูกเส้นประสาท ทำให้ช่องที่ให้เส้นเอ็นผ่านขณะงอหรือเหยียดนิ้วแคบลง ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ และยังเป็นโรคที่นำพาไปสู่อาการกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบและอ่อนแรง
สาเหตุของพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ
เกิดจากพังผืดบริเวณข้อมือมีขนาดใหญ่และหนามากขึ้น จนส่งผลให้เกิดความดันบริเวณข้อมือสูงมากขึ้น โดยมักเกิดจากผู้ที่ใช้ข้อมือซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวันและใช้งานมากเกินไป เช่น การงอข้อมือ การแอ่นข้อมือ เป็นต้น โดยอาชีพที่เกิดความเสี่ยง คือ ชาวไร่ชาวสวน ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือกีฬาที่ใช้ข้อมือมาก เป็นต้น
อาการของพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ
มักมีอาการเริ่มต้น คือ ชานิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน โดยอาการชาจะค่อย ๆ เป็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนมากมักจะมีอาการชาในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน และจะชาเกือบตลอดเวลาในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มือไม่ค่อยมีแรง หยิบจับของแล้วหลุดออกจากมือ และอาจไม่สามารถกำมือได้ เป็นต้น หากปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบได้อย่างถาวร
วิธีการรักษาพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือเบื้องต้น
ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามอาการและสาเหตุที่เป็น โดยมีการรักษาเบื้องต้น ได้แก่
- การดามข้อมือ เป็นวิธีที่พังผืดยังไม่มีขนาดใหญ่มากโดยการดามให้ข้อมืออยู่นิ่ง ๆ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อมือ โดยลดการใช้ข้อมือลงเท่าที่จะทำได้ หรือทำการเปลี่ยนอุปกรณ์การทำงานให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- การผ่าตัด หากผ่าตัดบริเวณดังกล่าวจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทข้อมือ
ผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือหายขาดหรือไม่
การผ่าตัดสามารถรักษาโรคนี้ได้ แต่ยังมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกหากผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นพังผืดทับเส้นประสาท ทั้งการใช้ข้อมือบ่อย งอมือบ่อยทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หลังผ่าตัดจนหายแล้วควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่ใช้ข้อมือบ่อยให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นอีกครั้ง
การป้องกันพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อลดการเกร็งและลดการงอนิ้วมือลง
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Carpal_unnel_syndrome