สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานศาลยุติธรรม ลงนามความร่วมมือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ด้านคดีเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข ให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศจัดระบบรองรับดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สารเสพติด ที่มีคำสั่งให้ส่งตัวจากศาลเยาวชนและครอบครัว
นายอุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ด้านคดีเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม โดย นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กับกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนภารกิจของศาลยุติธรรมในการใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางสาธารณสุข เช่น การส่งตัวจำเลยในคดีอาญาไปให้แพทย์ตรวจ หรือรักษากรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยวิกลจริตและไม่อาจต่อสู้คดีได้ การกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลย โดยให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ศาลอาจใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมด้านคดี เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีประสิทธิภาพ บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่อาจมีปัญหาได้รับความคุ้มครอง และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น
ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งกำหนดผู้ทำหน้าที่ประสานงาน และร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม จัดระบบรองรับการส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือบุคคลอื่น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต จิตเวช บุคลิกภาพ และสารเสพติด ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งให้ส่งตัวเพื่อเข้ารับการประเมินสภาพปัญหา การตรวจวินิจฉัย การให้คำปรึกษาแนะนำ ฟื้นฟู การบำบัดรักษาและฟื้นฟูการติดยาหรือสารเสพติด และภาวะหรือโรคทางจิตเวช รวมทั้งทำความเห็นรายงานต่อศาล เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัว