พลูคาว

13 ก.ค. 2566 16:26:50จำนวนผู้เข้าชม : 1896 ครั้ง

ชื่อสมุนไพร : พลูคาว
ชื่ออื่น ๆ : ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง ผักคาวทอง ผักคาวตอง (เหนือ) พลูแก (กลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Houttuynia cordata Thunb.
ชื่อพ้อง : Houttuynia emeiensis Z.Y.Zhu & S.L.Zhang, H. foetida Loudon, Polypara cordata
ชื่อวงศ์ : Saururaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
                พืชล้มลุกขนาดเล็ก ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากแตกออกตามข้อ สูง 30-50 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กลม สีเขียว เรียบมัน อาจพบสีม่วงแดงอ่อน ทั้งต้นถ้านำมาขยี้ดมจะได้กลิ่นคล้ายคาวปลา ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบแผ่บาง เกลี้ยง โคนใบเว้าเข้าหากัน คล้ายรูปหัวใจหรือรูปไต ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 3.5-9 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร เส้นใบออกจากฐานใบ 5-7 เส้น มีขน ผิวใบด้านบนเรียบสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ด้านล่างมีขนตามเส้นใบ โคนก้านใบแผ่เป็นปีกแคบ ก้านใบยาว 1.5-2 เซนติเมตร หูใบเป็นแผ่นยาวติดกับก้านใบ เมื่อขยี้ใบดมจะได้กลิ่นคล้ายคาวปลา รสฝาดเล็กน้อย ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กมาก และมีจำนวนมากอัดกันแน่นบนแกนช่อ รูปทรงกระบอก ออกบริเวณปลายยอดหรือซอกใบใกล้ยอด ไม่มีกลีบดอกและก้านดอก มีใบประดับ 4 ใบ สีขาวนวล รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขนาดไม่เท่ากันรองรับโคนช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อติดผลจะเจริญยาวขึ้นได้ถึง 2.5-5 เซนติเมตร กลีบรองดอกและกลีบดอกลดรูป เกสรเพศผู้ 3 อัน เกสรตัวเมียมีก้านชูยอดเกสร 3 อัน ผลมีขนาดเล็กมาก แห้งแตกได้ ที่บริเวณยอด มีเมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ริมน้ำ พบได้ตั้งแต่พื้นที่ราบต่ำไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,500 เมตร มีแขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกดอกและติดผลช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ใบใช้รับประทานสดเป็นผัก
สรรพคุณ
                ตำรายาไทย ทั้งต้น รสเผ็ด มีกลิ่นคาวปลา เป็นยาเย็น แก้กามโรค เข้าข้อ แก้น้ำเหลืองเสีย ทำให้แผลแห้ง ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ รักษาปอดอักเสบเป็นหนอง หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไอ รักษาติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไตอักเสบบวมน้ำ ลำไส้อักเสบ เต้านมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ แก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร ภายนอกใช้แก้พิษงู แมลงกัดต่อย แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ฝีอักเสบ ทาภายนอกให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังในบริเวณนั้นมาก ใบ รสเผ็ดคาว แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง ทำให้แผลแห้ง แก้เข้าข้อ แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ดอก แก้โรคตา ราก แก้เลือด และขับลม ทั้งห้า (ต้น ใบ ดอก ผล ราก) นำมาปรุงหรือกินแก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด และโรคที่เกิดตามผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง
องค์ประกอบทางเคมี
                 ทั้งต้น พบน้ำมันระเหยง่ายประมาณ 0.5% และพบสารอื่น ๆ ได้แก่ สารกลุ่มเทอร์ปีน caprinaldehyde, myrcene, geraniol, linalool, cineole, limonene, pinene, thymol, caryophyllene, 3-oxodecanol สารกลุ่มฟลาโนอยด์ ได้แก่ quercitrin, rutin, quercetin, afzelin, reynoutrin, hyperin สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ อะริสโทแลคแทมเอ, พิเพอโรแลคแทมเอ สารอื่น ๆ ได้แก่ capric acid, potassium chloride, potassium sulphate
ผล มีน้ำมันหอมระเหย เป็นของเหลวใส สีเหลืองทอง มีกลิ่นเฉพาะตัว ประกอบด้วย alpha pinene, beta pinene, d-limonene, borneol, linalool, beta caryophyllene, eucalypttol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
                ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว, ฤทธิ์ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดเริม, ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม, ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Sarcina ureae, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ขับปัสสาวะ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา
                 ตำราสมุนไพรไทยจีน แนะนำให้ใช้พลูคาว 15-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ฝีอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ บิด และวัณโรค
ข้อควรระวัง
                 การรับประทานมากเกินไป จะทำให้อาเจียนได้ หรือถ้านำมาใช้ภายนอกในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ทำให้เป็นแผลพองได้
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=244