โรคริดสีดวงทวาร

07 ก.ย. 2566 13:59:52จำนวนผู้เข้าชม : 678 ครั้ง

เป็นอาการที่เส้นเลือดบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนล่างจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเหมือนเส้นเลือดขอด ผู้ใหญ่ราว 3 ใน 4 คน มักเคยเป็นโรคริดสีดวงทวารครั้งหนึ่งในชีวิต สาเหตุของโรคมีได้หลายสาเหตุ
โรคริดสีดวงทวาร
                  เมื่อมีอาการของโรคริดสีดวงทวาร เส้นเลือดบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนล่างจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เหมือนเส้นเลือดขอด โรคริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคริดสีดวงทวารภายใน ซึ่งเกิดภายในลำไส้ตรงและโรคริดสีดวงทวารภายนอก ซึ่งเกิดใต้ผิวหนังรอบทวารหนัก
                  ผู้ใหญ่ราว 3 ใน 4 คน มักเคยเป็นโรคริดสีดวงทวารครั้งหนึ่งในชีวิต สาเหตุของโรคมีได้หลายสาเหตุ แต่โดยมากแล้วมักไม่สามารถระบุสาเหตุได้
                   อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคริดสีดวงทวารนั้นได้ผลดี และการดูแลรักษาด้วยยาสามัญประจำบ้าน ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้

อาการของโรคริดสีดวงทวาร
                 อาการขึ้นอยู่กับชนิดของโรคริดสีดวงทวาร
1. โรคริดสีดวงทวารภายนอกเกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก มักมีอาการ
- เลือดออก
- ผิวรอบทวารบวม
- ไม่สบายตัว เจ็บปวด
- อาการระคายเคือง คันบริเวณทวารหนัก
2. โรคริดสีดวงทวารภายในเกิดภายในลำไส้ตรง มักมองไม่เห็นหรือไม่ทำให้เจ็บ แต่หากต้องเบ่งอุจจาระ อาจมีอาการดังนี้
- เลือดสดออกทางทวารหนักแต่ไม่เจ็บ อาจมีเลือดหยดลงในโถสุขภัณฑ์หรือบนกระดาษทิชชู
- โรคริดสีดวงแบบมีก้อนยื่นออกนอกทวาร ซึ่งจะรู้สึกเจ็บและระคายเคือง
3. โรคริดสีดวงทวารแบบมีลิ่มเลือด เมื่อเกิดลิ่มเลือดในริดสีดวงทวารภายนอก มักมีอาการ
- บวม
- ปวดรุนแรง
- อักเสบ
- ก้อนบวมมีไตแข็งรอบทวารหนัก
ควรพบแพทย์เมื่อไร
                   ควรพบแพทย์หากมีเลือดออกทางทวารหนัก หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาตัวเอง 1 สัปดาห์ โรคริดสีดวงทวารอาจไม่ใช่สาเหตุของอาการในกรณีที่การขับถ่ายเปลี่ยนไป สีหรือลักษณะของอุจจาระแปลกไป โรคอื่น ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนักก็อาจทำให้มีเลือดออกทางทวารหนัก
หากรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด และเลือดออกทางทวารหนักจำนวนมาก ควรพบแพทย์ทันที
สาเหตุ
                    เมื่อแรงดันในทวารหนักสูงขึ้น เส้นเลือดรอบทวารหนักจะคั่งเลือดและยืดขยายโตขึ้น ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร แรงดันในทวารหนักจะเพิ่มขึ้นเมื่อ
- เบ่งอุจจาระ
- นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
- ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
- เป็นโรคอ้วน
- ตั้งครรภ์
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ไม่ทานอาหารที่มีใยอาหารสูง
- ยกและหิ้วของหนักเป็นประจำ
ปัจจัยเสี่ยง
                    เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ตรงรอบ ๆ เส้นเลือดทวารหนักเริ่มไม่แข็งแรง ยืดออก เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคริดสีดวงทวาร ในหญิงตั้งครรภ์น้ำหนักของทารกในครรภ์จะเพิ่มแรงกดทับบนทวารหนัก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
                    มักไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน แต่อาจเกิดภาวะดังต่อไปนี้ได้
โลหิตจางหรือภาวะซีด
                    ถ้ามีการเสียเลือดในปริมาณมากบ่อย ๆ จะทำให้ร่างกายขาดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่จะนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายได้เพียงพอ แต่ภาวะนี้เกิดขึ้นได้น้อย
ริดสีดวงทวารอักเสบที่มีภาวะขาดเลือดร่วมด้วย
                   ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมากจากการขาดเลือดไปเลี้ยงริดสีดวงภายใน
ลิ่มเลือด
                   ภาวะห้อเลือดที่บริเวณปากทวารเกิดขึ้นจากลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง อาจต้องกรีดและระบายลิ่มเลือดออก
การป้องกัน
                   โรคริดสีดวงทวารป้องกันได้ด้วยการทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มอยู่เสมอ สิ่งที่ผู้ป่วยทำได้เพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของอาการ ได้แก่

     - เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใย เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มและเพิ่มปริมาตรอุจจาระ ช่วยให้ไม่ต้องเบ่งถ่าย อย่างไรก็ตาม ควรเริ่มเพิ่มปริมาณผัก ผลไม้ ธัญพืชอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันอาการท้องอืดจากก๊าซในลำไส้


     - ดื่มน้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ (เว้นแอลกอฮอล์) 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม


    - ปริมาณใยอาหารแต่ละวันที่ควรได้รับ คือ 20-30 กรัม แต่คนส่วนใหญ่มักรับประทานไม่เพียงพอ ผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารสามารถช่วยบรรเทาอาการเลือดออกทางทวารหนักและอาการอื่น ๆ ของโรคริดสีดวงทวารหนักได้ ควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารเพื่อป้องกันภาวะท้องผูก


   - ไม่เบ่งถ่ายหรือกลั้นหายใจเวลาขับถ่าย เพื่อป้องกันการเพิ่มแรงดันภายในลำไส้ตรงส่วนล่าง


   - ไม่ควรกลั้นหรือไม่เข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกอยากขับถ่าย เพราะจะทำให้อุจจาระแห้งแข็ง


    - การออกกำลังกายช่วยให้ลำไส้ขยับบีบตัวบ่อยขึ้น เพิ่มความอยากถ่ายอุจจาระ ลดอาการท้องผูก


    - จำกัดเวลานั่งขับถ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคั่งเลือดเป็นเวลานานในเส้นเลือดทวารหนัก


การตรวจวินิจฉัย


       แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคริดสีดวงภายนอกด้วยตาเปล่า แต่โรคริดสีดวงภายในจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยทางทวารหนักและลำไส้ตรง


     - การตรวจทางทวารหนัก


    แพทย์จะใส่ถุงมือยางและทาเจลหล่อลื่นก่อนสอดนิ้วผ่านรูทวาร เพื่อคลำหาก้อนเนื้อในลำไส้ตรง


    - การส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ตรง


    เป็นการตรวจด้วยการส่องกล้อง โดยใช้กล้องชนิดต่าง ๆ เช่น anoscope, proctoscope หรือ sigmoidoscopy เพื่อตรวจส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ซึ่งคลำไม่ถึงหรือไม่พบจากการตรวจด้วยนิ้วทางทวารหนัก แพทย์อาจทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดในกรณีที่


    - แพทย์สงสัยว่าอาการเกิดจากโรคอื่นของระบบทางเดินอาหาร


   - มีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


   - ผู้ป่วยวัยกลางคนและยังไม่ได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่


การรักษา


- การดูแลตัวเองที่บ้าน


   การดูแลรักษาตัวเองที่บ้านสามารถทำได้หากอาการไม่รุนแรง


 - เพิ่มอาหารกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อเพิ่มปริมาตรของอุจจาระและความอ่อนนุ่ม ทำให้ไม่ต้องเบ่งถ่าย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการ แต่ควรเพิ่มการรับประทานใยอาหารทีละน้อยเพื่อป้องกันอาการท้องอืด


  - ใช้ครีมหรือยาสอดที่มีสารไฮโดรคอร์ติโซน หรือแผ่นแปะที่มีสารสกัดวิชเฮเซล หรือยาชา


  - นั่งแช่น้ำอุ่นในถาดที่วางบนโถสุขภัณฑ์เป็นเวลา 10-15 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน


 - รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ


     การดูแลตัวเองที่บ้านสามารถช่วยรักษาอาการได้ภายใน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดและเลือดออกมากขึ้น ควรพบแพทย์โดยทันที


- การใช้ยา


      หากอาการไม่รุนแรง สามารถใช้แผ่นแปะ ครีม ยาทาขี้ผึ้ง หรือยาสอดที่มีสารกสัดวิชเฮเซลหรือสารไฮโดรคอร์ติโซนเพื่อบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์นาน ๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง จึงไม่ควรใช้นานเกิน 7 วัน เว้นในกรณีที่แพทย์แนะนำ


- การผ่าตัดลิ่มเลือดในริดสีดวงทวารภายนอก


      หากมีอาการห้อเลือดหรือลิ่มเลือดที่สร้างความเจ็บปวด การผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ทันที แต่การผ่าตัดจะได้ผลดีเมื่อทำภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดลิ่มเลือด


- หัตถการการรักษาแบบเจ็บตัวน้อย


      หัตถการเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารที่มีอาการและมีเลือดออกบ่อยมีหลายวิธี โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องนอนที่โรงพยาบาลและไม่จำเป็นต้องดมยาสลบหรือใช้ยาระงับความรู้สึก


การใช้ยางรัด


     เพื่อตัดการส่งเลือดไปยังริดสีดวงทวารหนักภายในโดยการรัดยาง 1-2 เส้นรอบหัวริดสีดวง เพื่อให้หัวเล็กลงและหลุดออกภายใน 1 สัปดาห์


การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดริดสีดวงทวาร


      ฉีดสารเคมีเพื่อให้เนื้อเยื่อริดสีดวงหดตัว วิธีนี้ไม่เจ็บหรือเจ็บเล็กน้อย แต่ประสิทธิภาพน้อยกว่าการใช้ยางรัด


หัตถการที่ทำให้เนื้อเยื่อหดยุบตัว


     เป็นหัตถการที่ใช้ความร้อนจากแสง เลเซอร์ หรืออินฟราเรด เพื่อทำให้หัวริดสีดวงภายในขนาดเล็กที่มีเลือดออกหดยุบและแข็งตัวขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไม่สบายตัวและมีผลข้างเคียงบ้าง


- การผ่าตัด


     โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด เว้นแต่ว่าหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่หรือการรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำ


การผ่าตัด


      การผ่าตัดนั้นทำได้หลายวิธี แพทย์อาจใช้การดมยาสลบ การฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง หรือยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่พร้อมยาทำให้ง่วงหลับ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาโรคริดสีดวงระยะรุนแรงหรือเป็นซ้ำ  ปัญหาแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ภาวะถ่ายปัสสาวะไม่ออกชั่วคราว หลังการผ่าตัดโดยการบล็อกหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้


      ยาหรือการนั่งแช่น้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดได้


การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์


     ควรพบแพทย์หากทนทุกข์ทรมานจากโรคริดสีดวงทวาร แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมกับแพทย์ระบบทางเดินอาหารหรือศัลยแพทย์ด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อการวินิจฉัยรักษาเพิ่มเติม


- การเตรียมตัว


      ก่อนพบแพทย์ ให้สำรวจดูว่ามีเรื่องที่ต้องเตรียมตัวพิเศษหรือไม่ และให้จดบันทึกประเด็นต่อไปนี้


          - อาการของโรคและระยะเวลาที่เป็น


          - ลักษณะการขับถ่ายปกติ อาหารที่รับประทานประจำ รวมถึงปริมาณใยอาหาร


         - ชนิดและขนาดของยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทานอยู่


         - คำถามอื่นที่อาจมี


ตัวอย่างคำถามที่ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ได้


       - สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร


       - โรคริดสีดวงทวารเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร


       - มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง


     - วิธีการรักษาที่ดีที่สุด


     - หากการรักษาไม่ได้ผล ควรทำอย่างไรต่อ


      - จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่


     - ควรทำอะไรเพื่อบรรเทาอาการ


     - หากมีโรคประจำตัวร่วมกับโรคริดสีดวงทวารควรทำอย่างไร


ถามคำถามอื่น ๆ ที่มี


สิ่งที่แพทย์อาจจะถาม


  - มีอาการเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวารหรือไม่


  - นิสัยการขับถ่ายเป็นอย่างไร


  - รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงมากน้อยเท่าไร


  - อะไรที่ทำแล้วอาการดีขึ้น


   - อะไรที่ทำแล้วอาการแย่ลง


   - คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวาร มะเร็งช่องทวารหนัก หรือโรคริดสีดวงทวารหรือไม่


   - การขับถ่ายเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่


   - ถ่ายเป็นเลือดหรือไม่ หรือมีเลือดหยดลงในโถสุขภัณฑ์หรือบนกระดาษทิชชูหรือไม่


   - ปริมาณและลักษณะสีของเลือดที่ออก


สิ่งที่สามารถทำได้ก่อนวันนัดพบแพทย์


     ก่อนพบแพทย์ ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน


ขอขอบคุณข้อมูล : นพ.บัณฑิต สุนทรเลขา  ศัลยแพทย์ทั่วไปและผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.medparkhospital.com/