น้ำนมราชสีห์สรรพคุณและประโยชน์ของน้ำนมราชสีห์ 60 ข้อ !

08 มี.ค 2567 14:01:43จำนวนผู้เข้าชม : 22637 ครั้ง

น้ำนมราชสีห์ใหญ่ น้ำนมราชสีห์ ชื่อสามัญ  Garden spurge, Asthma weed, Snake weed, Milkweeds


น้ำนมราชสีห์ ชื่อวิทยาศาสตร์  Euphorbia hirta L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) [1],[2],[3],[9]


สมุนไพรน้ำนมราชสีห์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำนมราชสีห์ใหญ่, นมราชสีห์, ผักโขมแดง (ภาคกลาง), หญ้าน้ำหมึก (ภาคเหนือ, ไทลื้อ), หญ้าหลังอึ่ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ตะกราเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), บัดอะตอน (ปะหล่อง), ไต่ปวยเอี่ยงเช่า ปวยเอี้ยง (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3],[6] และเชื่อว่าอาจมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง โดยมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่รกร้าง ชายป่า ท้องนา และในพื้นที่โล่งจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร[4]

  ลักษณะของน้ำนมราชสีห์


 - ต้นน้ำนมราชสีห์ จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กมีอายุเพียงปีเดียว มักพบขึ้นได้เองตามริมทาง ข้างถนน และตามที่รกร้างทั่วไป ลำต้นมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาจากโคนต้นใกล้ดินตั้งขึ้น หรือแผ่ออกไปรอบ ๆ ตามก้านมีสีแดงเรื่อ ๆ และมีขนสีน้ำตาลปนเหลือง มีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลซึมหากนำมาหักก้านหรือเกิดบาดแผล ซึ่งเป็นที่มาของชื่อน้ำนมราชสีห์ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ[1],[3],[4],[7],[9]


ใบน้ำนมราชสีห์ 


          - ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมข้าวหลามตัดเบี้ยวเล็กน้อย ใบมีความกว้างประมาณ 0.25-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลมสั้น ส่วนฐานใบสอบเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเป็นหยักเล็กแบบฟันเลื่อย ใบมีเส้นใบออกจากโคนประมาณ 3-5 เส้นในแต่ละข้าง ที่กลางใบจะมีจุดสีม่วงแดง ส่วนด้านล่างใบมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร สีคล้ายกับลำต้น[1],[5]


 

ดอกน้ำนมราชสีห์


           - ออกดอกเป็นช่อบริเวณง่ามใบ มี 1-6 ช่อ มีดอกจำนวนมากออกชิดกันแน่นเป็นกระจุกกลม ๆ ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกมีสีเขียวปนสีม่วงแดง ก้านดอกไม่มีหรือมีแต่สั้นมากประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นแบบ Cyathium เรียงอัดกันแน่นแบบช่อกระจุกซ้อน มีประมาณ 20-50 ช่อ ในแต่ละ Cyathium ติดบนวงใบประดับเป็นรูปถ้วย มีความสูงประมาณ 0.8 มิลลิเมตร และมีต่อมขนาดประมาณ 0.1 มิลลิเมตร 4 ต่อม เป็นสีชมพู ต่อมมีรยางค์เป็นแผ่นสั้นแคบขนาดประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ดอกติดภายใน Cyathium จะไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ดอกตัวผู้อยู่ด้านข้างมีหลายดอก โดยเกสรตัวผู้ลดรูปเหลือ 1 อัน ก้านเกสรสั้นติดบนก้านดอก ส่วนดอกตัวเมียมี 1 ดอก ติดอยู่ด้านบน มีรังไข่ 3 พู มีก้านสั้น ๆ ก้านเกสรอยู่ 3 อัน ยอดเกสรมีความยาวประมาณ 0.3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉกตื้น ๆ และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี [1],[4],[5]

ผลน้ำนมราชสีห์


         - ผลมีลักษณะกลมแกมรูปสามเหลี่ยมหรือแบบแคปซูล มี 3 พู ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม และมีรอยแยก 3 รอย ส่วนก้านผลมีความยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ผลแห้งแล้วจะแตก มี 1 เมล็ดในแต่ละซีก เมล็ดมีขนาดเล็กผิวเรียบสีน้ำตาลแก่หรือสีแดง ลักษณะเป็นรูปรีและเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร[1],[3],[5]

สรรพคุณของน้ำนมราชสีห์


      1.ทั้งต้นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)[1]


      2.ต้นนำมาต้มใช้เป็นยาเย็น (ต้น)[1] ทั้งต้นมีรสฉุนเปรี้ยวและเย็นจัด ช่วยดับร้อน แก้พิษ แก้ชื้น (ทั้งต้น)[2]


3.ช่วยแก้ธาตุพิการ (ต้น) [1]


       4.ช่วยแก้กษัย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[10]


      5. ยางสดใช้ทารักษาโรคปากนกกระจอกได้ (ยาง, ทั้งต้น)[1]


      6.ทั้งต้นใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคตานขโมย (ผอม พุงโร ก้นปอด) โดยนำมาใช้ต้มอาบ หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม นำมาตุ๋นกับหมูประมาณ 120 กรัม รับประทาน (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]


      7.ทั้งต้นใช้เป็นยาสงบประสาทและช่วยทำให้นอนหลับได้สนิท (ทั้งต้น)[4]


       8.ยางขาวใช้เป็นยาเกี่ยวกับประสาทความรู้สึก (ยาง)[4]


       9.ในอินเดียมีการใช้น้ำยางขาวมาหยอดตา เพื่อใช้รักษาเยื่อตาอักเสบ เป็นแผลที่กระจกตา (ยาง)[4]


       10.ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]


      11.ช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ต้น)[1]


      12.ช่วยแก้ไข้ทำมะลา (มีอาการไข้ หมดสติ และตายโดยไม่ทราบสาเหตุ) ด้วยการใช้รากน้ำนมราชสีห์ผสมกับรากทับทิม รากส่องฟ้าดง และเดือยไก่ป่า ใช้ฝนกับน้ำกินและทา (ราก)[3],[14]


     13.ช่วยลดไข้ ใช้เป็นยากินระหว่างที่เป็นไข้ (ราก)[3],[4]


      14.รากและต้นสดช่วยแก้อาการไอ (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[3],[14]


      15.ช่วยแก้หืด แก้หืดไอ หายใจขัดเนื่องจากหืด (ต้น, ทั้งต้น) [1],[3],[4],[14] แก้หืดหอบ (ต้น)[1]


      16.น้ำต้มกับรากใช้กินเป็นยาช่วยทำให้อาเจียน[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า รากใช้แก้อาเจียน (ราก)[4]


      17.ใบแห้งใช้ผสมกับดอกลำโพงแห้ง ใช้มวนเป็นบุหรี่สูบแก้อาการหอบหืด (ใบ)[1],[4]


      18.ช่วยแก้อาการแพ้อากาศ (ต้น)[1]


      19.ช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (ต้น)[1]


      20.ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]


      21.ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ต้มตากแห้ง นำมาต้มรวมกับไมยราบ ลูกใต้ใบ และทองพันชั่ง ใช้ดื่มเช้าและเย็น (ต้น)[13]


      22.ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง (ทั้งต้น)[4]


      23.ช่วยแก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (ทั้งต้น)[2]


      24.ต้นนำมาต้มใช้กินแก้บิด บิดเรื้อรังและเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย แก้บิดเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 15-25 กรัม ผสมกับน้ำตาลทรายหากใช้แก้บิด ถ้าบิดเป็นมูกให้ผสมด้วยน้ำตาลแดงและใช้น้ำต้มสุกตุ๋นเอาน้ำมาดื่ม หรือจะใช้ทั้งต้นนำมาผสมกับน้ำตาลอ้อยต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[14]


     25.รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคบิดมีตัว (ราก)[3]


     26.ทั้งต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงใช้ผสมกับน้ำสวนช่วยแก้อาการท้องผูก (ทั้งต้น)[4]


     27.ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (ทั้งต้น)[1],[4]


     28.ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม ผสมกับน้ำใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2] หรือใช้ทั้งต้นแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม หรือจะใช้ทั้งต้นนำมาตัดสั้น ๆ ประมาณครึ่งนิ้ว นำไปคั่วไฟพอเหลือง ใช้ชงดื่มต่างน้ำ จะช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแดงหรือเป็นขุ่นข้นได้อีกด้วย (ทั้งต้น)[3],[14]


       29.ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม ผสมกับน้ำใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง (ต้น, ทั้งต้น)[2]      


      30.ช่วยแก้หนองใน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม ผสมกับน้ำใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง (ต้น, ทั้งต้น)[2]


       31.ช่วยแก้ไตพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[10]


       32.ต้นใช้เป็นยาฝาดสมานและห้ามเลือด (ต้น, ทั้งต้น)[1],[4] หรือจะใช้ใบสดนำมาขยี้หรือใช้ตำแล้วพอกแผลเพื่อช่วยห้ามเลือด (ใบ)[2] ทั้งต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอก ช่วยรักษาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ (ทั้งต้น)[1]


        33.ทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาผ้าชุบน้ำมาใช้ทาแผล หรือจะใช้ยางสดนำมาทาแผลจะช่วยทำให้แผลแห้งไว (ทั้งต้น, ยาง)[1]


         34.น้ำยางใช้เป็นยาทาแผลจากการสัก โดยจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ยาง)[1]


         35.ช่วยแก้ศีรษะเด็กมีแผลเปื่อยเน่า มีน้ำเหลือง ด้วยการใช้ต้นสด 1 กำมือ นำมาต้มเอาน้ำมาชะล้างแผล (ต้น)[2]


         36.ช่วยแก้กลาก ขาเป็นกลาก เน่าเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 100 กรัม นำมาแช่ในแอลกอฮอล์ 75% ปริมาณ 500 มิลลิลิตร ประมาณ 3-5 วัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ (ต้น, ทั้งต้น)[2],[4]


         37.ช่วยแก้พิษฝีบวมแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอกแผล (ทั้งต้น)[2]


         38. ช่วยแก้ฝีมีหนองลึก ๆ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ ผสมกับเกลือและน้ำตาลทรายแดงละเอียดเพียงเล็กน้อย นำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]


         39.ช่วยแก้ฝีในปอด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำครึ่งแก้ว ใช้ผสมกับน้ำดื่ม (ต้น, ทั้งต้น)[2]


        40.ช่วยแก้ฝีที่เต้านม ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม ผสมกับเต้าหู้ 120 กรัม นำมาต้มรับประทาน หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาตำผสมน้ำร้อนเล็กน้อยแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ต้น, ทั้งต้น)[2]


         41.น้ำยางของต้นใช้แก้หูด กัดหูด ตาปลา ด้วยการใช้น้ำยางขาวมาทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ (ยาง)[1],[2],[7]


         42.ช่วยแก้ผดผื่นคัน ทั้งต้นนำมาใช้ต้มอาบจะช่วยแก้อาการคันได้ (ทั้งต้น)[1],[2]


        43.ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ต้นแห้งต้มกับน้ำดื่ม ช่วยระงับอาการชัก (ต้น, ทั้งต้น)[3],[8],[14]


        44.ช่วยขับน้ำนม เพิ่มน้ำนม และช่วยฟอกน้ำนมของสตรีให้สะอาดสำหรับสตรีหลังคลอด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[1],[2],[3],[14]


         45.ดอกและผล ไม่รวมราก (ไม่แน่ใจว่ารวมต้นด้วยหรือไม่) นำไปตากแห้งแล้วนำมาประกอบเป็นยาในรูปของยาดองเหล้าและยาสกัดไหลเหลว (fluid extract) ผสมกับ Lobelia (Lobelia inflata L.) หรือรากของ Senega (Polygala senega L.) ใช้เป็นยาแก้หืดและแก้อาการไอ เพราะมีฤทธิ์กดการหายใจ ช่วยทำให้หลอดลมขยายขึ้น และในรูปของยาดองเหล้าจะใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้และการขับถ่าย[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์


      1.ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย และช่วยในการสมานแผล[9]


      2.สารสกัดเมทานอลของต้นน้ำนมราชสีห์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Salmonella typhimurium โดยสามารถยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus และ Pseudomonas aeruginosa ได้ดีที่สุด ส่วนสารที่สกัดด้วยน้ำของต้นน้ำนมราชสีห์จะมีฤทธิ์ยับยั้งเฉพาะเชื้อ Bacillus cereus ส่วนสารสกัดเมทานอลและสารสกัดน้ำของต้นน้ำนมราชสีห์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อเหมือนกัน คือ Bacillus cereus, Escherichia coli, Staphylococcus aureus และ Salmonella typhimurium โดยฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อที่ดีจะพบได้ในสารสกัดเมทานอลของต้นน้ำนมราชสีห์เล็ก[12]


          3.สารสกัดจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะต่อเชื้อ Staphylococcus [1]


        4.มีรายงานระบุว่า สารสกัดจากทั้งต้นไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค แต่บางรายงานระบุว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อในความเข้มข้น 1:5 และ 1:60[4]


        5.สารสกัดจากต้นมีฤทธิ์ในการกดหัวใจ การหายใจ และทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าต้นน้ำนมราชสีห์นี้ใช้ในกรณีกล้ามเนื้อเรียบหดตัว อย่างน้อยก็กล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้หายใจได้ดีขึ้น ในกรณีที่หายใจติดขัดเนื่องจากหืดหรือเนื้อเยื่อพองบวม[4]


       6.สารสกัดจากต้นน้ำนมราชสีห์มีฤทธิ์ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในหนูทดลอง ช่วยแก้ปวด กดประสาทส่วนกลาง ช่วยผ่อนคลายความกังวล ช่วยลดอาการท้องเสีย ลดอาการอักเสบในสัตว์ทดลอง และจากการทดลองทางคลินิกก็พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาโรคบิดมีตัว แม้จะไม่มีรายงานความเป็นพิษอย่างชัดเจน แต่ก็พบว่ามีสารพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ ดังนั้น จึงควรศึกษาความเป็นพิษให้แน่นอนก่อนนำมาใช้จริง[14]


        7.ฤทธิ์แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม และกิ๊กแก้ 10 กรัม นำมาใส่น้ำต้มประมาณ 2 ชั่วโมง คั้นเอาน้ำมาต้มอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไประเหยให้เหลือ 60 ml. ใช้แบ่งกิน 3 ครั้ง ครั้งละ 20 ml. ติดต่อกัน 20 วัน ซึ่งผลการสำรวจจากคนไข้จำนวน 128 ราย พบว่าหาย 33 ราย มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน 36 ราย มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ 45 ราย และยังช่วยแก้อาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาการไอมีเสมหะ ปอดชื้น มีเสียงแหบ ที่เป็นในระยะเริ่มแรกอย่างได้ผลดี ส่วนอาการของโรคหอบหืดและในคนไข้ที่มีอายุมากจะได้ผลไม่ดีนัก และถ้าคนไข้เป็นโรคเรื้อรัง ร่างกายอ่อนแอ ผลการรักษาจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก นอกจากนี้ คนไข้ที่มีอาการเวียนศีรษะ เป็นหวัด ก็ยังกินยานี้ต่อไปได้[4]


        8.มีฤทธิ์แก้ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน แก้บิดจากแบคทีเรีย โดยใช้ทั้งต้นประมาณ 30-160 กรัม นำมาต้มน้ำแบ่งกิน 3 ครั้ง หรือจะใช้ทำเป็นยาเม็ดใช้กินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ทำเป็นยาฉีด ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 2 ml. วันละ 3 ครั้ง[4]


          9.มีรายงานว่าการใช้ต้นน้ำนมราชสีห์ร่วมกับเอื้องเพ็ดม้าและห่งบ๋วยเช่า ทำเป็นตำรับยา โดยใช้อย่างละ 16 กรัม นำมาต้มสกัดเอาน้ำเคี่ยวให้ข้น แล้วนำไประเหยให้แห้ง และบดให้เป็นผง ทำเป็นยาเม็ด (ใน 1 เม็ด มีเนื้อยา 0.6 กรัม) ใช้กินครั้งละ 3 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งจากการรักษาคนไข้ที่เป็นบิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลันและลำไส้อักเสบจำนวน 2,000 ราย พบว่าได้ผลประมาณ 90% อาการอุจจาระเป็นมูกเลือดจะหายภายใน 3 วัน คิดเป็น 78% และช่วยลดไข้ได้ภายใน 1 วัน คิดเป็น 68% โดยอุจจาระจะเป็นปกติอย่างเร็วที่สุดคือ 2 วัน และช้าสุด 10 วัน หากกินยาแล้วยังมีอาการถ่ายไม่หยุด ให้กินยาเพิ่มขึ้นอีกได้ และยังไม่พบว่ามีอาการข้างเคียง[4]


      10.ต้นน้ำนมราชสีห์มีสารบางชนิดที่ทำให้ถ่ายได้[4]


     11. หนูตะเภาตัวเมียในระยะที่ให้นม เมื่อกินต้นน้ำนมราชสีห์พบว่าจะมีน้ำนมมากขึ้น[4]


     12.มีการทดลองใช้น้ำนมราชสีห์บดผสมในอาหารไก่เนื้อในอัตรา 0.5, 1.0, 1.5 และ 2% พบว่าการผสมน้ำนมราชสีห์ในอัตราที่สูงขึ้น จะช่วยทำให้ไก่มีน้ำหนักตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไก่ที่รับปฏิชีวนะสาร (Avilamycin) [9] ประโยชน์ของน้ำนมราชสีห์


     - ประโยชน์ของน้ำนมราชสีห์ ยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานได้[1]


    - น้ำยางจากต้นสามารถนำมาใช้ทารักษาหัวสิวบนใบหน้าได้[7]


   - ต้นน้ำนมราชสีห์ เป็นพืชที่มี Growth hormone สูง เมื่อนำมาใช้เลี้ยงปลาหรือเป็ด จะช่วยทำให้เป็ดออกไข่ดี ส่วนปลาก็เจริญเติบโตได้ดี (ไม่มีข้อมูลอื่นยืนยัน)[11]


เอกสารอ้างอิง


     1.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Garden spurge“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [10 ธ.ค. 2013].


     2.สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี .  "น้ำนมราชสีห์."  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [10 ธ.ค. 2013].


     3.ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  "น้ำนมราชสีห์".  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [10 ธ.ค. 2013].


     4.มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 14 คอลัมน์: อื่น ๆ.  "น้ำนมราชสีห์และน้ำนมราชสีห์เล็ก".  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [10 ธ.ค. 2013].


      5.สารานุกรมพืชในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  "น้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [10 ธ.ค. 2013].


      6.งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม.  "น้ำนมราชสีห์ใหญ่".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ndk.ac.th.  [10 ธ.ค. 2013].


      7.ชีวจิต.  "บทความอาจารย์สาทิส".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com.  [10 ธ.ค. 2013].


       8.ไทยรัฐออนไลน์.  "น้ำนมราชสีห์ แก้หูดสรรพคุณดี".  (นายเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [10 ธ.ค. 2013].


        9.กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์.  "น้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th.  [10 ธ.ค. 2013].


       10.ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.  "น้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9 (arit.kpru.ac.th).  [10 ธ.ค. 2013].


        11.ไทยอินโฟเน็ต.  "growth hormone จากต้นน้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: thaiinfonet.com.  [10 ธ.ค. 2013].


         12.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  "การศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของพืชสมุนไพรในสกุล Euphorbia".  (นรีรัตน์ ภูมลี, ฤทธิรงค์ ทองออน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.28.48.80.  [10 ธ.ค. 2013].


         13.สมุนไพรกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  "น้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [10 ธ.ค. 2013].


        14.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  "น้ำนมราชสีห์".  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [10 ธ.ค. 2013].


ภาพประกอบ :www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, Scamperdale, Starr Environmental, sintaprama, h35312)


เรียบเรียงข้อมูลโดย :เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : medthai.com