สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
กระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลก ทำให้พลาสติกชีวภาพได้รับความสนใจจากหลายๆ ประเทศในการพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่เพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้มีการประยุกต์ใช้พลาสติกชีวภาพในด้านต่างๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงพลาสติกชีวภาพ แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็กำลังเกิดความสับสนระหว่างชนิดของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีทั้งพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐาน และที่แอบอ้างว่าเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ เรามาดูกันนะคะว่า จากรายละเอียดด้านล่างแล้ว พลาสติกชีวภาพแท้จริงเป็นเช่นไร และอะไรคือความแตกต่างของพลาสติกทั้ง 2 ชนิดนี้
อะไรคือ Bioplasitcs
พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่ทันสมัยต่อกระแสต้านภาวะโลกร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics หรือ compostable plastics) เป็นวัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการผลิต การนำมาใช้งาน ตลอดจนถึงการกำจัด โดยสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบการเกษตร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือ อ้อย นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพยังใช้พลังงานและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าพลาสติกธรรมดาถึงร้อยละ 20 ประการสำคัญที่สุดที่เป็นจุดเด่นของพลาสติกชีวภาพ คือ ในกระบวนการกำจัดหลังการใช้พลาสติกชนิดนี้แล้ว สามารถแตกสลายทางชีวภาาพ (biodegradable) ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจะถูกจุลินทรีย์ในธรรมชาติใช้เป็นอาหารและย่อยสลายกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และมวลชีวภาพ ซึ่งพืชสามารถนำกลับไปใช้ในการสังเคราะห์แสงเพื่อหมุนเวียนกลับมาผลิตแป้งหรือน้ำตาลในมันสำปะหลัง หรือ อ้อยต่อไปได้
ด้วยคุณสมบัติการสลายตัวทางชีวภาพดังกล่าว ถุงพลาสติกชีวภาพจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากปริมาณการผลิตพลาสติกของโลกในขณะนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ล้านตัน โดยคิดเป็นปริมาณการบริโภคของประชากรโลกสูงถึง 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ขยะพลาสติกดังกล่าวสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยขน์ใหม่ได้เพียงร้อยละ 30
องค์การที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในยุโรป เช่น กลุุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ และองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักร รวมทั้งสมาคมพลาสติกชีวภาพแห่งยุโรป จึงได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน ให้มีการใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ในการคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อนำมาเป็นปุ๋ยหมักเทศบาล หรือปุ๋ยหมักอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดจำนวนบ่อฝังกลบขยะแบบเปิด ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโลกร้อน และปุ๋ยหมักนี้จะถูกนำกลับไปฟื้นฟูคุณภาพดินได้ดียิ่งขึ้น
ข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics) และพลาสติกสลายตัวได้ชนิดอ๊อกโซ (oxo-degradable plastics)
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ อ้างอิงมาตรฐานสากลของ ISO 17088 : 2008 (specification for compostable plastics) ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพได้อย่างชัดเจนว่าเป็น “พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษหลงเหลือไว้”
ทั้งนี้ มาตรฐานดัวกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อรับรองคุณสมบัติของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพเพื่อให้สามารถนำกลับคืนมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้โดยผ่านการหมักทางชีวภาพ เช่นเดียวกับการหมักปุ๋ยในโรงหมักของอุตสาหกรรม หรือของเทศบาล ซึ่งต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำ ออกซิเจน และอัตรส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจน เป็นต้น
พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน และแตกสลายทางชีวภาพกลายเป็นปุ๋ยหมักในอัตราเทียบได้กับเศษหญ้า ถุงกระดาษคราฟท์ หรือเศษอาหาร ภายใต้ข้อกำหนดที่สำคัญดังต่อไปนี้
การแตกสลายทางชีวภาพในขั้นสุดท้ายโดยใช้ออกซิเจนนั้นจะทำให้คาร์บอนอินทรีย์ในพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคาร์บอนอินทรีย์ในสารอ้างอิงเชิงบวก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
การแตกเป็นส่วนหลังการหมักทางชีวภาพ (disintegration) ภายใต้ภาวะควบคุมเป็นเวลา 84 วันนั้น พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพทที่ยังคงเหลือ เมื่อร่อนผ่านร่องตะแกรงขนาด 2.0 มิลลิเมตร ต้องเห็นชัดเจนว่าไม่แตกต่างจากวัสดุอินทรีย์ในปุ๋ยหมักที่ได้ และต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 10 ของพลาสติกตั้งต้น
ความปลอดภัยต่อการเจริญเติบโตของพืช พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่ผ่านการหมักชีวภาพแล้ว ต้องไม่มีผลเสียต่อปุ๋ยหมักในการช่วยให้พืชเจริญเติบโต โดยต้องมีปริมาณสารอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนักแห้ง ไม่มีโลหะและสารพิษที่ควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด ได้แก่ สังกะสี ทองแดง นิกเกิล แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท โครเมียม โมลิบดีนัม ซีลีเนียม สารหนู และฟลูออรีน
สำหรับพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ โดยกระบวนการแตกสลายด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า Oxo-Degradable Plastics นั้น ไม่ได้เป็นพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งสามารถตรวจสอบคุณภาพได้ตามมาตรฐานสากลของ ISO 17088 หรือ EN 13432 เพื่อรับรองและยืนยันความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกทั่วไป เช่น พอลิเอทิลีน (polyethylene, PE) ที่ผสมสารเติมแต่งทางเคมี ซึ่งอาจจะประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น โคบอลต์ หรือโครเมียม ที่มีคุณสมบัติเป็นสารเร่งให้เกิดปฏิกิริยาที่มีออกซิเจนในบรรยากาศเข้าร่วมด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของพลาสติก และแตกสลายได้อย่างต่อเนื่องเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ทางกายภาพ ซึ่งยังคงตกค้างหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันได้ว่าสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์
ชิ้นพลาสติกเล็กๆ ชนิดอ็อกโซจำนวนมากเหล่านี้รวมทั้งโลหะหนักจะฟุ้งกระจายและถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต อาจก่อให้เกิดสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือก่อเกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ เศษพลาสติกดังกล่าวสามารถดูดซึมสารเคมีอันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyltrichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการประกาศเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงตกค้างกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสลายตัวได้ช้า ดังนั้น เศษพลาสติกอ๊อกโซจะทำให้ความเข้มข้นของสารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ถึงล้านเท่า โดยเป็นเสมือนระเบิดสารเคมีที่มีพิษซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อคุณภาพของดินและสิ่งมีชีวิต
ในอีกด้านหนึ่งของการแยกขยะพลาสติกธรรมดาที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สารเติมแต่งในพลาสติกอ็อกโซจะไปทำลายคุณภาพการเสถียรตัวของพลาสติกรีไซเคิล จึงทำให้คุณสมบัตเสียไปไม่เหมาะที่จะนำมาปนกับพลาสติกที่ต้องการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีหน่วยงานไหนที่สามารถออกมาตรฐานเพื่อใช้รับรองว่าพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซสามารถสลายตัวเป็นปุ๋ยหมักได้อย่างสมบูรณ์และไม่เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ
ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงการเลือกใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่ถูกต้องมากกว่าการคำนึงถึงด้านราคาและรายได้จากธุรกิจเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว เพราะท่านอาจจะกลายเป็นผู้สร้างมลพิษเพิ่มขึ้นให้สิ่งแวดล้อมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจตรงข้ามกับความตั้งใจเดิมที่ต้องการช่วยปกป้องและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป
Credit :ดร.วันทนีย์ จองคำ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.porsiriplastic.com/17106004/bioplastics